เหตุผลที่ทำให้ชาวพุทธหลายคน ไม่สามารถเข้าถึงผลแห่งการ ปฏิบัติภาวนา

12 เหตุผลที่ทำให้ชาวพุทธหลายคน ไม่สามารถเข้าถึงผลแห่งการปฏิบัติภาวนา!!!

1. ถ้าไม่หายสงสัยจะไม่ทำ หมายความว่า เป็นคนที่ต้องเห็นถึงจะยอมทำ ต้องรู้ให้ได้ว่านรกมีจริง สวรรค์มีจริง ชาตินี้ชาติหน้ามีจริง ถ้าไม่เห็นด้วยตาตนเอง จะไม่ยอมทำอะไรเลย ซึ่งถ้าคิดเช่นนี้ก็คงไม่ได้ทำอะไรจริงๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พิสูจน์ไม่ได้  พิสูจน์ได้แน่นอนแต่ต้องใช้เวลา ต้องพัฒนาจิตไปได้ระดับหนึ่งจึงสามารถรู้เห็นสิ่งเหล่านี้ได้  เป็นไปไม่ได้ที่จะขอเห็นก่อนโดยไม่ลงมือปฏิบัติ คนพวกนี้จึงได้แต่โต้แย้งในสิ่งที่ตนเองสงสัย. ทำให้สูญเสียเวลาชีวิตไปเปล่าๆ

2. เห็นประโยชน์และมีความศรัทธา แต่มีข้ออ้างมากมายเพราะความเกียจคร้าน คนเหล่านี้จะชอบทำบุญมากกว่าการภาวนา เพราะทำได้ง่ายกว่า ซึ่งก็ไม่ผิด แต่การทำบุญ ทำทาน ก็ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งได้ ถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้ากระแสความดีแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงตัวแก่นของพระพุทธศาสนา

3. พูดมากเกินไป หมายความว่า เมื่อหาความรู้ได้แล้ว แทนที่จะลงมือปฏิบัติ กลับนำความรู้มาโต้เถียง วิเคราะห์ เที่ยวจับผิดสำนักนั้น สำนักนี้ โดยที่ไม่ได้ลงมือพัฒนาจิตใจของตน ผลที่ตามมาก็คือ จิตใจจะยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะอัตตาตัวตนพอกพูน คิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่นเพราะรู้หลักธรรมมาก

4. ติดความดีมากเกินไป หมายความว่า มุ่งมั่นในการทำสาธารณะประโยชน์มากเกินไป ช่วยเหลือผู้อื่นจนไม่มีเวลาช่วยเหลือตนเอง เมื่อช่วยเหลือผู้อื่นไปนานๆ  มักจะมีความทุกข์ตามมาในภายหลัง เพราะเก็บเรื่องความทุกข์ของผู้อื่นมาคิด จนวุ่นวายปวดหัวไปหมด สุดท้ายก็เกิดความท้อแท้ เพราะไม่เข้าใจว่า โลกคือสิ่งที่เราไปควบคุมไม่ได้

5. มุ่งอยู่กับความผิดของผู้อื่น หมายความว่า ใช้เวลาจับผิดคนทั้งโลก จนไม่มีเวลาจับผิดตนเอง วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นมากเกินไป คิดจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม แต่ไม่เคยเปลี่ยนตนเอง เพ่งโทษความผิดพลาดของผู้อื่น จนจิตใจตนเองขุ่นมัว ไม่มีความเบิกบานพอที่จะปฏิบัติธรรมได้เลย

6. ยึดติดกับรูปแบบ อัตลักษณ์ หมายความว่า มีความเข้าใจผิด ชอบคิดว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องทำในวัด  นุ่งขาวห่มขาว ต้องมีกฏระเบียบที่แตกต่างไปจากการใช้ชีวิตธรรมดา  คนกลุ่มนี้จะติดวัดเป็นพิเศษ ชอบหาเวลาเข้าวัดไปปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ได้ไปวัดจะรู้สึกว่า ปฏิบัติธรรมไม่ได้ สุดท้ายจึงกลายเป็นว่า ไปติดสังคมในวัด ไปหาเพื่อนคุยในวัด ซึ่งกลายเป็นกับดักอีกรูปแบบหนึ่ง

7. ทำๆเลิกๆ หมายความว่า เมื่อฟังธรรมก็เกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่า และลงมือปฏิบัติ  หากแต่เป็นพวกขี้เบื่อ มีความเพียรน้อย ทำหนึ่งเดือน หยุดสองเดือน ในการปฏิบัตินั้น ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ผู้ปฏิบัติก็จะได้รับผลแห่งการปฏิบัติเองอย่างไม่ต้องสงสัย  หลายคนปฏิบัติไปไม่ถึงจุดแห่งมรรคผล แต่กลับล้มเลิกกลางคัน ทำให้ขาดประสบการณ์ทางจิต  เมื่อเลิกไป แล้วกลับมาทำใหม่ ก็เท่ากับเริ่มต้นกันใหม่ไม่จบสิ้น ที่สุดแล้วก็เกิดความท้อแท้ คิดว่าตนเองเป็นผู้ไร้วาสนาไม่อาจบรรลุธรรมได้ คนพวกนี้ก็มีไม่น้อยเลย

8. ปฏิบัติผิดวิธี หมายความว่า เป็นกลุ่มที่โชคร้าย เพราะคิดดี และต้องการทำดี  แต่ไปเจออาจารย์ไม่ดี เจออรหันต์ปลอม เจอสิบแปดมงกุฏ จึงทำให้การปฏิบัติผิดทิศผิดทางไปหมด  คล้ายๆกับองคุลีมาลที่ถูกอาจารย์หลอก ในข้อนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการคบหากัลยาณมิตร หาความรู้ที่ถูกต้อง ต้องหัดใช้หลักกาลามสูตร เช่นนี้ก็จะแก้ไขได้

9. ให้เวลากับทางโลกมากเกินไป หมายความว่า ไม่รู้จักการแบ่งเวลา ไม่รู้จักสร้างสมดุลย์ให้ชีวิต คนพวกนี้จะใช้ชีวิตอย่างวุ่นวายไปเรื่อยๆ ต้องสุข ต้องทุกข์ไปเรื่อยๆ อาจอยู่ห่างไกลการพัฒนาจิตใจไปเรื่อยๆ จนมีจุดเปลี่ยนของชีวิต  เกิดความทุกข์ครั้งใหญ่จนทำให้เขาต้องกลับมาสร้างสมดุลย์ชีวิตอีกครั้ง เป็นผลให้เสียเวลาปฏิบัติทางจิตไปมาก บางคนมาปฏิบัติในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ดี เนื่องจากสังขารไม่อำนวย นั่งไปปวดไป ทำได้ไม่เท่าไหร่ ก็ลมจับ ล้มพับไปก็มี เป็นการเสียโอกาสเพราะความชราภาพโดยแท้

10. คนจมทุกข์ หมายความว่า เป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของตนเองวันๆ เอาแต่ทุกข์ซ้ำไปซ้ำมา เหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง จนเป็นคนเสพติดความเศร้า
ความเหงาโดยไม่รู้ตัว นานวันเข้าก็เริ่มเป็นความเคยชินของชีวิต คนเหล่านี้จะ
ชอบฟังธรรมะที่ปลอบประโลม ชอบให้คนอื่นปลอบ แต่ไม่ชอบช่วยตนเอง
นิยมการใช้ธรรมะชั้นต้นเพื่อบำบัดทุกข์ แต่ในขั้นตอนของการปฏิบัติภาวนาจะไม่ชอบ ไม่มีกำลังใจพอที่จะเปลี่ยนตนเองได้เลย

11. คนที่มีความสุข โลกสวยงาม คิดบวกตลอดเวลา หมายความว่า เป็นพวกที่ทำอะไรก็สำเร็จไปเสียหมด มีวิธีมองโลกให้สดใสไปทุกอย่าง ถ้าความจริง
ไม่ดี ก็มองให้มันดีเสีย จึงไม่ค่อยได้เจอความทุกข์ เมื่อไม่ค่อยได้พบความทุกข์ จึงไม่รู้จะปฏิบัติธรรมไปทำไม เชื่อว่าตนเองจัดการทุกอย่างได้ บุคคลพวกนี้  จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นไปได้ว่า ชั่วชีวิตเขาอาจไม่ได้ลงมือปฏิบัติธรรม เพื่อลดทอนภพชาติได้เลย เป็นกลุ่มที่น่าสงสาร เพราะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปอีกนาน

12. ฉลาดเกินไป หมายความว่า เป็นคนที่ตกเป็นทาสของความคิด ยึดติดอยู่กับการค้นหมายชีวิตเชิงปรัชญา คิดเอาเองว่า ความคิดจะทำให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้ คนพวกนี้จะถือความคิดเป็นใหญ่ ยึดติดอยู่กับการวิเคราะห์โดยไม่รู้ว่า มีภาวะบางอย่างที่เกินขีดความสามารถของสมองไปแล้ว คนกลุ่มนี้จะฉลาดทางโลก แต่กลายเป็นคนโง่ในทางธรรม

การเวียนว่ายตายเกิดไม่ใช่ของสนุก พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่คือ ทุกข์แห่งการเวี่ยนว่ายตายเกิด เพราะการเวี่ยนว่ายตายเกิดนั้นเป็นที่มาแห่งทุกข์ทั้งมวล เป็นการยากมากที่ใครสักคนจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ยิ่งยากเข้าไปอีกที่จะได้พบกับศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเรามีคุณสมบัติครบบริบูรณ์เช่นนี้

ขอจงทำลายความโง่เขลาทั้ง 12 ประการนี้เสีย และเร่งความเพียรของตนเอง พัฒนาจิตตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำสันติสุขมาสู่เรา เข้าสู่นิพพานตลอดอนันตกาล

พศิน อินทรวงค์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น