บารมี 10 ประการ


การสั่งสมบารมี การสร้างบารมีนั้นมี 10 ประการตามที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมาก่อนการตรัสรู้ บารมี 10 ประการนี้จะเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะของใจ สภาวะของใจ ที่พักของใจนั่นเอง
บารมี 10 มีดังนี้

(1) ทานบารมี จิตใจท่านพร้อมแล้วหรือยังที่จะให้ทานตามความสามารถ เพราะการให้ทานนี่เป็นการทำลายโลภะ ความโลภ

(คำว่าทานบารมีเต็ม ก็คือ จิตใจเรามีำกำลังใจเต็มในการให้ทาน มีความรู้สึกอยากให้อยู่ตลอด โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นและธำรงค์พระุพุทธศาสนา เป็นการให้เพื่อลดความตะหนี่ในใจเราเอง…สำหรับวิธีปฏิบัติคือ หากใครใส่บาตรได้ทุกวันก็ถือว่าดีมาก แต่หากไม่สะดวกแนะนำให้ใส่บาตรวิระทะโย คือ นำเงินใส่กระป๋องทุกวัน แล้วค่อยรวบรวมไปทำบุญ)

ส่วนเสริม สำหรับบางท่านที่ไม่มีเงิน อาจใช้อย่างอื่นแทนเช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือ ไม่มีข้าว ไม่มีเงิน แต่ต้องการให้ทานบารมีเต็ม ให้ปลูกพืชผัก แล้วตั้งใจว่า ผัก(เช่นพริก มะเขือ) ต้นนี้ เราจะไม่กิน ออกผลเมื่อไหร่ จะเอาไปถวายพระสงฆ์ทั้งหมด….

(2) ศีลบารมี ศีลของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือเปล่า ทุกวันท่านพิจารณาศีลของท่านหรือเปล่าว่าครบถ้วนไหม
(การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ต้องเจริญพรหมวิหาร 4 และกรรมบท 10 ควบคู่ไปด้วย)

(3) เนกขัมมบารมี การถือบวช หรือ การละออกจากกาม การถือบวชในที่นี้ก็หมายถึงว่าเป็นการระงับนิวรณ์ 5 ประการ โดยเฉพาะกามฉันทะ เห็นรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสัมผัสที่ต้องการการมั่วสุมไปด้วยกามารมณ์เป็นโทษ มันเป็น อนิจจัง ไม่มีการทรงตัว รูปมันสวยไม่จริงสวยนิดหนึ่ง แล้วก็แก่ไปเสื่อมไปทุกวัน เสียงผ่านหูแล้วก็หายไป กลิ่นหอมกระทบจมูกแล้วก็หายไป สัมผัสที่เรานึกว่าดี ความจริงมันเป็นปัจจัยนำโทษมา นี่หมายถึงว่าสัมผัสระหว่างเพศมันนำโทษมาให้ หากต้องการสัมผัสแบบนั้นงานมาก งานมันก็เกิดขึ้นมาก กำลังใจต้องรักษาไว้ซึ่งกันและกัน ต้องเอาใจคนโน้น ต้องเอาใจคนนี้หนักใจมาก


(4) ปัญญาบารมี นี่เราเห็นหรือยังว่าการเกิดเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วนี่ภาระต่าง ๆ เต็มไปหมดที่พูดไปแล้วนี่มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นหาความสุขไม่ได้ ถ้าเราจะสุขได้จริง ๆ ก็ต้องวางการเกิดคือวางขันธ์ 5 นี่เป็น ปัญญาบารมี

(5) วิริยบารมี ได้แก่ความเพียร เรามีความเพียรครบถ้วนแล้วหรือยังคือใช้กำลังใจเป็นสำคัญ ไปหักห้ามความชั่วไม่ให้เข้ามายุ่งกับใจ

(6) ขันติบารมี แปลว่า ความอดทน การกระทำความดีที่ฝืนอารมณ์เดิมต้องอดทนเพราะใจมันคอยจะต่ำ มันคบกิเลส ตัณหา อุปาทาน คือ มีความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เราก็พิจารณาเห็นว่าความรักเป็นโทษ ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นโทษ เราจะฝืนกำลังใจที่มันคบกันมานาน เราก็ต้องใช้ความอดทน ไม่อย่างนั้นเราก็จะทรงตัวอยู่ไม่ได้

(7) สัจจบารมี ความจริงใจ ที่เราตั้งใจจะห้ำหั่นกิเลสทั้ง 3 ประการให้มันสิ้นไปเราจะไม่ละความพยายามทรงสัจจะเข้าไว้ จะไม่ยอมทิ้งสัจจะคือความจริงใจ แต่ว่าการรักษาสัจจะต้องให้มันพอดีพอควร อย่าทำเกินพอดี การนั่งกรรมฐานเครียดเกินไป พระพุทธเจ้าไม่ใช้ ใช้อารมณ์ย่อหย่อนเกินไปไม่ใช้ ใช้อารมณ์พอดี ๆ เพื่อรักษาอาการของขันธ์ 5 ให้เป็นปกติ

(8) อธิษฐานบารมี อธิษฐานต้องตั้งใจไว้เลยว่า การปฏิบัติแบบนี้ เราต้องการพระนิพพาน ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าทำเป็นแค่อุปนิสัย ถ้าอารมณ์คิดว่าเป็นแค่อุปนิสัยมันขี้เกียจง่าย ตั้งใจไว้เฉพาะว่าชาตินี้ทั้งชาติ อย่างเลวที่สุดเราจะเป็นพระโสดาบันให้ได้

(9) เมตตาบารมี เมตตาบารมีตัวนี้ก็เป็นตัว ตัดโทสะ ความพยาบาท ที่เป็นกิเลสตัวสำคัญสำหรับ ปัญญาบารมี นั้นตัดโมหะ

(10) อุเบกขาบารมี ทรงอารมณ์เฉย ในเมื่อกฎของกรรมที่เราทำไว้เป็นอกุศลในชาติก่อนที่เราทำมันมาให้ผล เราก็มีอารมณ์สบาย อะไรมันจะเกิดแก่เราบ้าง เราก็สบายที่เรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ คือร่างกายมันจะแก่เราก็สบาย เฉย….เรารู้ว่าจะแก่ ถ้ามันจะป่วยใจเราก็สบาย เพราะรู้ว่ามันจะป่วย รักษาตัวเหมือนกัน หายก็หาย ตายแหล่ก็ช่างมัน ของรักของชอบใจที่จะต้องพลัดพรากจากกัน เรารู้ว่านี่เป็นธรรมดา อารมณ์ใจก็เฉย สบาย…เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา มันจะจากไปเราก็ห้ามมันไม่ได้ คนที่รักกันกับเราเขาประกาศเป็นศัตรูก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขากับเรายังมีกิเลสกัน ต่างคนต่างมีกิเลส เขาจะไปมันเป็นเรื่องของเขาเราไม่ตาม ถ้าเขาจะมาเราก็ไม่ปฏิเสธพร้อมยอมรับ ใจสบายเป็น อุเบกขาบารมี ร่างกายมันจะตายจะพังก็ช่าง จัดเป็น อุเบกขาบารมี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น