นำหลักโพชฌงค์มาพิจารณาทุกขเวทนา

การนำหลักธรรมมาใช้ในการพิจารณาทุกขเวทนา หรือความปวดที่เกิดขึ้นกับกายได้อย่างไร
  1. มีสติ รับรู้ความปวดนั้น บางสำนักใช้คำปวดหนอๆ คำว่าปวดหนอไม่ใช่หมายความว่าเมื่อรู้ว่าปวดแล้วปวดจะต้องหาย ปวดจะหายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยการมีสติรับรู้ถึงความปวด จะต้องรู้ด้วยปัญญาว่าความปวดนั้นไม่เที่ยง กายนั้นตกอยู่ใต้กฏของไตรลักษณ์
  2. มีธัมมวิจยะ คือการพิจารณาความปวดให้เห็นตามความเป็นจริงทางธรรมว่า รูปหรือกายนี้เป็นอนัตตา เป็นไปเพื่ออาพาธถูกบีบคั้นกดดันให้สุขนั้นทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แม้ความปวดก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ เดี๋ยวน้อยเดี๋ยวมาก พื้นที่ๆ ปวดก็เพิ่มขึ้นหรือลดลง ความปวดเป็นเรื่องของกาย ใจเป็นเพียงเข้าไปรับรู้ มิใช่เข้าไปปวดด้วย เช่น โรคเบาหวานเป็นที่กาย ใจไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน กายก็ส่วนกาย ใจก็ส่วนใจ
  3. วิริยะ มีใจที่กล้าหาญไม่กลัวความปวด ขณะเดียวกันก็มีความเพียรต่อการพิจารณาตามข้อ 2 ไม่ท้อถอย พยายามเอาสติสมาธิมาอยู่ที่ใจ สังเกตความรู้สึกของใจว่าเป็นเช่นไร ไม่ต้องไปต่อสู้กับความเจ็บปวดของกาย หากไปเกร็งไปสู้กับความปวดก็จะเครียด ยิ่งปวดมากขึ้น สังเกตดูใจอย่างปล่อยวางความรู้สึกของกาย สักพักก็จะพบว่าใจปล่อยวางความทุกข์ของกายได้ โดยรับรู้ความปวดขณะที่ใจไม่ได้ปวด ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงว่ากายก็ส่วนหนึ่ง ใจก็ส่วนหนึ่ง เป็นคนละส่วนกัน
  4. เมื่อใจปล่อยวางทุกขเวทนาของกายได้ ความปวดของกายก็ไม่มาบีบคั้นให้ใจต้องปวด เมื่อนั้นปิติ หรือความอิ่มเอิบก็เกิดขึ้น
  5. เมื่อมีปิติเกิดขึ้นแล้ว ปัสสัทธิ หรือความสงบก็ตามมา ใจไม่ว้าวุ่นหรือเกิดวิตกกังวลกับความปวด
  6. เมื่อปล่อยวางความปวดได้แล้ว สมาธิ คือความตั้งมั่นของใจก็เกิดขึ้น ใจจะมีความสงบ ขณะเดียวกันความปวดของกายก็จางคลายลง เบาบางลงมาก หรืออาจจะหายไป
  7. ใจเป็นอุเบกขา ไม่ยินดียินร้ายกับความปวด ด้วยปัญญาที่รู้ว่า มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง
นี่คือการนำเอาหลักธรรมของโพชฌงค์ มาประยุกต์ใช้ในการพิจารณษทุกขเวทนา ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องเผชิญกับทุกขเวทนาทางกายด้วยกันทั้งนั้น หากนำหลักของโพชฌงค์ไปใช้ให้เกิดผลและทำอยู่เสมอจนคล่องแคล่วเป็นความเคยชิน ในบั้นปลายของชีวิตหากต้องทุกขเวทนากับโรคภัยไข้เจ็บ ก็ให้นำหลักของโภชฌงค์มาพิจารณาทุกขเวทนานั้น เพื่อใจจะปล่อยวางกายลงได้ สามารถรักษาใจให้สงบผ่องใสได้ แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งจะนำพะาปฏิสนธิวิญญาณไปเกิดในสุคติภูมิ

พระอาจารย์ชาญชัย อธิปณฺโญ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น