วิธีการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้า

ลักษณะวิธีการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๓ รูปแบบ ประกอบด้วยพระธรรมกถึกคือผู้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรมะคือตัวสารที่จะส่งไป และผู้ฟังคือผู้รับสารในการที่จะทำให้องค์ประกอบเหล่านี้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องมีขบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เรียกว่า พุทธวิธีในการสอน เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่พรั่งพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของนักเผยแผ่ และพุทธวิธีในการสอนอย่างครบถ้วน จึงได้รับการยกย่องว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ๓ เพื่อให้ทราบถึงวิธีการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้าตามแนวพุทธวิธีในการสอน ผู้วิจัยจะนำประเด็นที่สำคัญในการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้า ดังนี้

จุดมุ่งหมายในการสอน ไม่ว่าจะเสด็จไปทางไหน หรือทำอะไรพระพุทธเจ้าทรงตั้งจุดมุ่งหมายเสมอแม้แต่การสอนก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีใครปรากฏอยู่ในข่ายคือพระญาณแล้ว พระพุทธองค์ก็จะเสด็จไปแสดงธรรมโปรด เรียกว่า จุดมุ่งหมายในการสอน หรือลักษณะอาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมี ๓ อย่าง ได้แก่
๑. อภิญญายธัมมเทสนา ทรงแสดงธรรมด้วยความรู้ยิ่ง คือทรงรู้ยิ่งเห็นเองแล้วจึงทรงสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม เพื่อใช้แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน
๒. สนิทานธัมมเทสนา ทรงแสดงธรรมมีเหตุผล คือผู้ฟังตรึกตรองตามหรือเห็นจริงได้ และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น
๓. สัปปาฏิหาริยธัมมเทศนา ทรงแสดงธรรมให้เห็นจริง คือผู้ฟังนำผลนั้นไปปฏิบัติตาม พร้อมทั้งได้รับผลแห่งการปฏิบัติตามกำลังของตนๆ ๔

วิธีที่ทรงสอน วิธีที่ทรงสอนของพระพุทธเจ้ามีหลากหลายวิธีด้วยกัน ไม่ได้จำกัดอยู่ด้วยวิธีใด
วิธีหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมกับเหตุการณ์ กาละเทศะและความพร้อมของผู้ฟังกำลังแห่งสติปัญญา และสภาพแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งลักษณะวิธีที่ทรงใช้สอนบ่อยๆมีอยู่ ๓ แนวทาง คือ
๑. การสนทนา เป็นวิธีที่ทรงใช้อยู่บ่อยๆ กับผู้ที่เข้ามาเฝ้า ผู้ยังไม่เลื่อมใสศรัทธา และยังไม่เข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จะทรงเป็นฝ่ายถามก่อนนำเข้าสู่เนื้อหาแห่งธรรมะ ทำให้ผู้ฟังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา โดยใช้การโน้มน้าวใจเป็นหลักในการเผยแผ่ธรรมะ
๒. การบรรยาย เป็นวิธีที่ทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งผู้ฟังส่วนมากมีความรู้ มีความเข้าใจหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ทรงใช้เป็นหลักในการเผยแผ่ธรรมะ
๓. การตอบปัญหา เป็นวิธีการที่พระพุทธองค์ทรงใช้กับผู้ที่มาเข้าเฝ้า เพื่อสอบถามข้อสงสัยของตนเอง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นหลักในการตอบปัญหาแต่ละข้อ โดยพิจารณาถึงลักษณะของปัญหาและวิธีที่เหมาะสมกับการตอบปัญหานั้นๆในสังคีติสูตร ได้แยกลักษณะของปัญหาไว้ ๔ ประการ ได้แก่
เอกังสพยากรณียปัญหา หมายถึง ปัญหาที่ตอบแบบตรงไปตรงมา
ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา หมายถึง ปัญหาที่ย้อนถามให้ชัดเจนก่อนแล้วจึงตอบปัญหานั้น
วิภัชชพยากรณียปัญหา หมายถึง ปัญหาที่ควรแยกตอบเป็นประเด็น
ฐปนียปัญหา หมายถึง ปัญหาที่ไม่ควรตอบ ถือว่าไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องไร้สาระทำให้เสียเวลา

อุบายประกอบการสอน พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเทคนิควิธีประกอบการสอนมากมาย เพื่อให้เหมาะสมกับจริตหรือความต้องการของบุคคลนั้นๆ จึงจะทำให้การเผยแผ่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย
๑. การยกอุทาหรณ์และนิทานประกอบ เป็นรูปแบบที่พระพุทธเจ้าทรงใช้บ่อยๆเพราะทำให้เข้าใจความได้ง่าย
๒. การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปไมย ทำให้เข้าใจเรื่องราวได้ลึกซึ้ง
๓. ใช้สื่อธรรมชาติใกล้ตัว ทำให้รู้จักเข้าใจง่ายเป็นอุปกรณ์การสอน
๔. การสาธิตให้ดูหรือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
๕.การใช้ภาษาในความหมายใหม่เป็นเรื่องของความสามารถในโวหารธรรมหรือการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณไหวพริบ
๖. การเลือกคน พระพุทธองค์จะทรงเลือกบุคคลที่เป็นประมุขหรือหัวหน้า แม้ในการแสดงธรรมในท่ามกลางพุทธบริษัท เมื่อมีเป้าหมายจะโปรดบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ทรงทิ้งบุคคลส่วนมาก ทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์ในการฟังธรรมตามกำลังของตน
๗. การรู้จักจังหวะและโอกาส เพื่อรอความพร้อมของผู้รับฟังทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และทางจิตใจ
๘. ความยืดหยุ่นในการสอนมีทั้งการยกย่อง การข่ม การปลอบประโลมหรือโอนอ่อนผ่อนตาม
๙. การลงโทษและให้รางวัล เมื่อเห็นว่าบุคคลใดควรยกย่องก็ยกย่อง หรือควรตำหนิก็ตำหนิ
๑๐. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยจะต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหา ประยุกต์พุทธวิธีในการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์

รูปแบบการสอนของพระพุทธเจ้า การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทุกครั้ง จะทรงใช้พุทธวิธีการสอนซึ่งมีรูปแบบและวิธีการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทรงเตรียมแผนการสอน พร้อมทั้งศึกษาสภาพแวดล้อม วิเคราะห์ผู้ฟัง มีข้อมูลไว้อย่างพร้อมมูล ตั้งแต่ต้นจนจบ ทรงใช้รูปแบบการสอนครบทั้ง ๔ ประการ ได้แก่
๑. สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือให้ไปเห็นกับตา
๒. สมาทปนา ชักจูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติตาม
๓.สมุตเตชนาเร้าใจให้แกล้วกล้าบังเกิดกำลังใจปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขันมั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก
๔. สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อและเปรี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการปฏิบัติ
๕ แผนการสอนของพระพุทธเจ้าเมื่อจะกล่าวถึงแนวทางการวางแผนการสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธองค์จะทรงทำตามลำดับก่อนหลัง ดังนี้
๑. วิเคราะห์ ผู้ฟังพระพุทธองค์จะทรงศึกษาและเลือกบุคคลอย่างละเอียดดังปรากฏอยู่ในพุทธ กิจที่ทรงใช้ประจำคือในเวลาใกล้สว่างจะทรงตรวจดูสัตว์โลกผู้สมควรได้รับพระ กรุณา
๒. กำหนดรู้ปริบทของผู้ฟัง เช่น เพศ วัย ฐานะ ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมชุมชน จารีตประเพณี อุปนิสัย ระดับสติปัญญา เป็นต้น
๓. กำหนดเนื้อหาสาระที่จะทรงใช้สอน มีขั้นตอนการเลือกธรรมที่จะนำมาสอนนับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้ฟังย่อมมีความพร้อมมีคุณสมบัติปริบททางสังคมที่ต่างกัน มีอินทรีย์ที่แก่กล้าต่างกัน การกำหนดเนื้อหาสาระที่มีความยากง่ายให้ตรงกับความต้องการของผู้รับฟัง ย่อมมีผลต่อการรับรู้ธรรมะของผู้ฟังทั้งสิ้น
๔. รูปแบบการนำเสนอพระพุทธเจ้าทรงมีรูปแบบในการสอนมากมายเช่นการสนทนาการบรรยายและการตอบปัญหา เป็นต้น
๕. วิธี การนำเสนอพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการนำเสนอที่หลากหลายเช่นบางครั้งทรงใช้วิธี ยกอุปมาขึ้นเปรียบเทียบบางครั้งใช้วิธีตอบปัญหาบางครั้งใช้วิธีเล่านิทานมา ประกอบเป็นต้น
๖. ลดส่วนที่เกินเพิ่มส่วนที่พร่อง การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทรงมุ่งประโยชน์เกื้อกูล และประโยชน์ต่อชาวโลก โดยอาศัยพระกรุณาธิคุณเป็นที่ตั้ง
๗. การประเมินผล พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีการประเมินผลในการแสดงธรรมะทุกครั้ง เมื่อจบการแสดงพระธรรมเทศนาแล้วจะเกิดคำว่า ธัมมาภิสมโย คือการได้บรรลุธรรมตามเหตุปัจจัย ส่วนชนที่อยู่ในที่ประชุมนั้น ก็สามารถบรรลุคุณธรรมมากน้อยต่างกันไปตามความแก่กล้าของอินทรีย์
๘. การติดตามผล พระพุทธองค์จะทรงติดตามผลความคืบหน้า ในเรื่องที่ทรงสอนไป ดังเช่น ทรงมอบให้พระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ราธะผู้บวช ในภายแก่ หลังจากบวชแล้วได้ไม่นานพระสารีบุตรนำเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงได้ตรัสถามถึงความเป็นมาของพระราธะซึ่งพระสารีบุตรก็ทูลว่าพระราธะเธอเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายเหลือเกิน

แสดงให้เห็นได้ว่า วิธีการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นทรงใช้พุทธวิธีในการสอนได้อย่างมีระบบ มีผลสัมฤทธิ์ทำให้พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานอย่างมั่นคงถาวรมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะทรงมีพระคุณสมบัติในฐานะผู้ส่งสารมีจุดมุ่งหมาย มีวิธีการสอนมีอุบายประกอบการสอน มีรูปแบบและแผนการสอนเป็นอย่างดี

แนวคิดทางการสื่อสาร ตามหลักการแนวคิดทางการสื่อสารแล้วไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร ความต้องการอารมณ์ซึ่งอาจหมายถึงตัวเนื้อหาสาระ (Message)ที่ผู้ส่งสารต้องการให้ผู้รับเกิดความเข้าใจร่วมกัน หรือมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน แต่เนื่องจากมีผู้นิยามความหมายของการสื่อสารไว้ในหลายทัศนะด้วยกันจึงอาจจะสรุปถึงลักษณะองค์ประกอบ (Communication Elements) ที่สำคัญๆ ของการสื่อสารได้อย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้
๑. ผู้ส่งสาร (Sender) หมายถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความคิด มีความต้องการ มีความตั้งใจที่จะส่งข้อมูลข่าวสาร มีอารมณ์ มีความรู้สึกนึกคิด มีความคิดเห็นทัศนคติ มีความเชื่อและอื่นๆ ไปยังผู้รับสาร เพื่อก่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อผู้รับสารดังนั้นผู้ส่งสารจึงถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์ต่อองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งในการเลือกข้อมูลข่าวสาร การเลือก วิธีการ และช่องทางที่จะทำให้สารไปถึงผู้รับสาร รวมทั้งการเลือกกลุ่มผู้รับสาร ผู้ส่งสารอาจเป็นบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มบุคคลทั้งการส่งสารผู้ส่งจะส่งสารโดยมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ได้ ข้อมูลข่าวสารอาจเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการนั่นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร ลักษณะการสื่อสารนั้น ทำผู้ส่งสารจะประสบผลสำเร็จหรือความล้มเหลว สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ส่งสาร ผู้ส่งสารบางคนอาจมีบุคลิกน่าเชื่อถือ น่าเลื่อมใสในสายตาของผู้รับสาร บุคคลบางคนอาจไม่เป็นเช่นนั้น มีปัจจัยอยู่
หลายประการที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้รับสาร ซึ่งแมคครอสกีได้กล่าวเอาไว้ ๕ ประการ ได้แก่
๑.๑ ความสามารถ (Competence) ได้แก่ความรู้ความสามารถในข้อมูลข่าวสารและในการส่งสารรวมทั้งความสามารถในการจัดการควบคุมสถานการณ์ในการสื่อสาร
๑.๒คุณลักษณะหรือบุคลิกลักษณะ(Character or Appearance) ได้แก่บุคลิกที่ดีทั้งภายในและภายนอก ผู้ส่งสารจะต้องแสดงถึงความเฉลียวฉลาด มีไหวพริบดีสามารถตัดสินใจกระทำในสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งแสดงลักษณะการให้ความอบอุ่นเป็นที่น่าไว้วางใจ อันจะสามารถสร้างความเชื่อถือ เลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้รับสาร
๑.๓ ความสุขุม เยือกเย็น (Composure) หมายถึง ความแคล่วคล่องในการสื่อสารไม่มีอาการที่แสดงถึงความตื่นเต้นหวาดกลัว หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้
๑.๔ การเป็นคนที่สังคมยอมรับหรือเป็นที่รู้จักทางสังคม (Social Ability)ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ได้รับความรู้สึกที่ดีจากผู้รับสารในเบื้องต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้รับสารคาดหวังอยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าหากผู้ส่งสารทำการสื่อสารไม่ดี อาจส่งผลทางลบต่อผู้รับสารในครั้งต่อไป
๑.๕.การเป็นคนเปิดเผย(Extroversion)เกิด ขึ้นโดยการให้ข้อมูลที่เพียงพอและไม่ปิดบังข้อมูลของผู้ส่งสารจะทำให้ผู้รับ สารเกิดความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเองรู้สึกไว้วางใจผู้ส่งสารมีผลทำให้ผู้รับ สารสามารถรับรู้และเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร
๒. สาร (Message)หมายถึงเรื่องราวอันมีความหมาย ซึ่งถูกแสดงออกมาโดยอาศัยภาษาหรือสัญลักษณ์ใดๆก็ตามที่สามารถทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๒.๑ รหัสสาร (Message Codes)คือภาษา(Language) หรือสัญลักษณ์(Signal) ที่ มนุษย์คิดขึ้นเพื่อแสดงออกแทนความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ ค่านิยม และวัตถุประสงค์ต่างๆ ของผู้ส่งสาร รหัสสารอาจถูกแสดงออกมาเป็นสารที่เป็นทั้งภาษาพูดภาษาเขียน รหัสที่ไม่ใช่ภาษาพูดหรือภาษาเขียนที่ผู้ส่งสารจะเลือกใช้รหัสสารแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับระบบสังคมวัฒนธรรมสภาพแวดล้อมของผู้รับสารซึ่งจะส่งผลให้เกิด ความเข้าใจร่วมกัน
๒.๒ เนื้อหาของสาร (Message Content) หมายถึงเรื่องราวสิ่งต่างๆ ที่ผู้ส่งสารต้องการจะถ่ายทอดหรือส่งไปยังผู้รับสาร แบ่งได้หลายประเภทตามเนื้อหาของสารในรูปแบบต่างๆ มีเนื้อหาเชิงวิชาการ และเนื้อหาไม่ใช่เชิงวิชาการ เป็นต้น
๒.๓ การจัดเรียงลำดับ (Message Treatment) หมายถึง รูปแบบวิธีการในการนำรหัสสารมาเรียบเรียงเพื่อให้ได้ใจความตามเนื้อหาที่ต้องการ ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างของภาษา (Structure) และบุคลิกลักษณะของแต่ละบุคคล
๓. ช่องทางการสื่อสาร (Channel or Media) หมายถึง พาหนะตัวนำพาข่าวสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารที่ใกล้ตัวที่สุด อาศัยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ อันได้แก่ การมองเห็นการได้ยิน การดมกลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัส รวมถึงคลื่นแสงคลื่นเสียงและอากาศที่อยู่รอบๆ ตัว ซึ่งลักษณะการสื่อสารไม่ว่าผู้ส่งสารจะใช้กลยุทธ์อะไร การสื่อสารจะเกิดประสิทธิผลได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่
๓.๑ความเหมาะสมของสื่อกับผู้ส่งสารได้แก่ความสามารถความชำนาญในการใช้สื่อของผู้ส่งสาร
๓.๒ความเหมาะสมของสื่อกับเนื้อหาของสารได้แก่ ระดับความสามารถของสื่อในการถ่ายทอดเนื้อหาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนหรือมากน้อยเพียงใด
๓.๓. ความเหมาะสมของสื่อกับผู้รับสาร ได้แก่ ความสามารถที่ผู้รับจะสามารถเข้าถึงสื่อประเภทต่างๆ
๓.๔ ความเหมาะสมของสื่อกับสภาพแวดล้อม ได้แก่การเข้ากันได้ของสื่อกับสภาพแวดล้อมในสถานการณ์ของการสื่อสารที่เป็นอยู่ในขณะนั้นเช่นพื้นที่เป็นภูเขาหรือเป็นเกาะเป็นต้น
๓.๕ ความเหมาะสมของสื่อกับปัจจัยด้านการเงิน ได้แก่ การพิจารณาถึงงบประมาณการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับการเลือกใช้สื่อ
๔. ผู้รับสาร (Receiver) เนื่องจากผู้รับสารเป็นบุคคลที่สำคัญในการสื่อสารแม้การสื่อสารจะเริ่มต้นจากผู้ส่งสาร แต่บุคคลที่จะแสดงว่าการสื่อสารประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นก็คือผู้รับสาร ถ้าผู้รับสารต้องการรับสารตามที่ผู้ส่งสารส่งในขณะนั้น หรือผู้รับสารมีความรู้ในการที่จะทำความเข้าใจต่อสาร ก็จะทำให้การสื่อสารสำเร็จได้โดยง่าย ในทางตรงข้ามหากผู้รับสารขาดความสนใจ ปิดกั้นการรับข่าวสาร หรือผู้รับที่ไม่สามารถทำความเข้าใจในสารที่ผู้ส่งให้ได้ก็จะทำให้การสื่อสารนั้นล้มเหลว ดังนั้นการสื่อสารทุกครั้งสิ่งที่ผู้ส่งจะต้องพิจารณาและคำนึงถึงอย่างมากก็คือผู้รับสาร

ทฤษฎีการโน้มน้าวใจ ถ้าต้องการพัฒนาบุคลากรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สำเร็จและสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมปัจจุบันได้ จำเป็นจะต้องส่งเสริมให้เรียนรู้ทฤษฎีการโน้มน้าวใจ ซึ่งหมายถึงการสื่อสารเพื่อการจูงใจ ชี้แนะ และชักชวนให้บุคคลทำตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยอาศัยกระบวนการสื่อสารเป็นเครื่องมือโน้มน้าวใจ มีผู้รับสารเป็นเป้าหมายหลักในการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจมีองค์ประกอบ ๔ อย่าง ได้แก่ ผู้ส่งสาร สารช่องทาง และผู้รับสาร จะปรากฏอยู่ในทุกสภาพการณ์ที่ทำการสื่อสาร โดยซมอนส์ ได้สรุปความหมายของการโน้มน้าวใจเพื่อการสื่อสารของมนุษย์ ที่สร้างขึ้นมา เพื่อให้มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น มีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อถือ ค่านิยม สามารถสรุปได้ดังนี้
๑. ผู้โน้มน้าวใจมีความตั้งใจที่จะมีอิทธิพลบางประการเหนือผู้ถูกโน้มน้าวใจ
๒. โดยปกติผู้ถูกโน้มน้าวใจ จะมีทางเลือกมากกว่าหนึ่งและผู้ถูกโน้มน้าวใจจะพยายามชักจูงผู้ถูกโน้มน้าวใจให้ยอมรับทางเลือกที่ตนเสนอ
๓. สิ่งที่ผู้โน้มน้าวใจต้องการคือการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็น ทัศนคติ และความเชื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ทั้งด้านอารมณ์ และพฤติกรรม เป็นต้น
เรื่อง : ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น