เรียนรู้จากธรรมชาติ

เรียนรู้จากธรรมชาติธรรมชาติคือทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ก่อเกิดของสรรพชีวิตเท่านั้น ธรรมชาติยังเลี้ยงดูสิ่งมีชีวิตทั้งหลายให้ดำรงอยู่ได้เป็นทั้งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และแหล่งความรู้ต่างๆ ให้มนุษย์ได้ศึกษา

ในบรรดาสรรพความรู้ทั้งหลายล้วนมีรากฐานมาจากการเรียนรู้จากธรรมชาติทั้งสิ้น สถาปัตยกรรมของมนุษย์ก็เช่นกัน ได้อาศัยการเรียนรู้จากการสร้างรังอยู่อาศัยของสัตว์ และการยึดโยงสิ่งต่างๆ ที่สัมพันธ์กันอยู่ตามธรรมชาติ และอีกหลายต่อหลายอย่างที่มนุษย์เรียนรู้จากธรรมช่าติ การเรียนรู้ดังกล่าวทำให้เกิดปัญญาทางโลก แต่ต่อให้รู้มากเก่งกาจสักเท่าได ก้ไม่สามารถพาตนให้พ้นทุกข์ได้

หากนำธรรมชาติมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้เกิดปัญญาทางธรรมก็สามารถเข้าสู่อริยธรรม บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เป็นต้นว่า

ภิกษุณีอุบลวรรณ ขณะจุดดวงประทีปรอบศาลา ได้สังเกตุเห็นประทีปแต่ละดวงสว่างไม่เท่ากัน บางดวงอยู่ในที่ที่ไม่มีลมพัดผ่านก็สว่างโชติช่วง แต่บางดวงที่มีลมพัดผ่าน เปลวไฟก็ไหวเอนไปมาจะดับมิดับแหล่ ส่วนบางดวงที่โดนลมพัดแรงก็ดับไปทันที ภาพที่เห็นทำให้อุบลวรรณเถรีนำมาเปรียบกับชีวิตของคนเราว่าสั้นยาวไม่เท่ากัน บางคนตายตั้งแต่วัยเยาว์ เหมือนเปลวประทีปที่วูบดับลงทันทีที่ต้องแรงลม บางคนตายในวัยกลางคน เหมือนเปลวประทีปที่วับๆ แวมๆ บางคนตายเมื่อวัยชรา เหมือนประทีปที่ไม่ต้องแรงลม สว่างโชติช่วงและดับเมื่อหมดไส้หรือหมดน้ำมัน

เธอนำเปลวประทีปมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน น้อมเข้ามาหาตนเพื่อเตือนสติมิให้ประมาทต่อชีวิต อันใดที่ยังยึดมั่นสำคัญก็ปล่อยวางลง มิได้แบกให้เป็นภาระของใจอีกต่อไป และด้วยบารมีที่ถึงพร้อมวิปัสสนาญาณจึงเกิดขึ้น เธอจึงได้บรรลุอรหัตตผลในคราวนั้น

ยังมีอีกหลายกรณีที่พระอรหันต์หลายท่านบรรลุธรรมจากการนำธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่เฉพาะหน้า เมื่อมากระทบประสาทสัมผัสแล้วโดนใจ ก็น้อมเอามาพิจารณาเป็นอารมณ์กรรมฐาน เป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุธรรมได้

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นมีหลายวิธี อย่าไปสำคัญผิดว่าต้องปฏิบัติวิธีนี้แบบนี้เท่านั้นจึงบรรลุธรรมได้ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานคือ การปฏิบัติแนวทาง สติปัฏฐาน 4 หรือ สัมมาสติ (1 ในมรรคมีองค์ 8)

เรื่อง: พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น