มรรคมีองค์ 8


หนทางแห่งธรรมะ อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ หรือที่เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์แปด เป็นแนวทางดำเนินอันประเสริฐของชีวิตหรือกาย วาจา ใจ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ เรียกว่า อริยมรรค แปลว่าทางอันประเสริฐ เป็นข้อปฏิบัติที่มีหลักไม่อ่อนแอ จนถึงกับตกอยู่ใต้อำนาจ ความอยากแห่งใจ แต่ก็ไม่แข็งตึงจนถึงกับเป็นการทรมานกายให้เหือดแห้งจากความสุขทางกาย เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือทางดำเนินสายกลาง ไม่หย่อนไม่ตึง แต่พอเหมาะเช่นสายดนตรีที่เทียบเสียงได้ที่แล้ว

จิตที่ดำเนินไปในเส้นทางมหาสติปัฏฐานสี่ อริยมรรคมีองค์แปด ... ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมเดินไปพร้อมกัน ธรรมจักรย่อมหมุนไป ตัดกระแสแห่งวัฏฏสงสาร เพื่อถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน อันเป็นสภาพสิ้นทุกข์ ไม่มีความกังวล พระพุทธองค์ ตรัสเปรียบเทียบว่า หม้อน้ำที่ไม่ฐานรองรับ ย่อมกลิ้งตกไป ได้ง่าย หม้อน้ำที่มีฐานรองรับ ย่อมกลิ้งตกไปได้ยากฉันใด จิตที่ไม่มี ฐานรองรับ ย่อมตกไปในที่ต่ำได้ง่าย ส่วนจิตที่มีฐานรองรับ ย่อมตกไปที่ต่ำได้ยากฉันนั้น...

มรรค ๘ คือ หนทางถึงความดับทุกข์ เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ (เรียกว่า มัคคสัจจ์ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ) และนับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยหนทาง 8 ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) แบ่งออกได้เป็น 3 หมวดด้วยกัน คือ
หมวดศีล หมายถึงการมีชีวิตอยู่ในศีลธรรม คือเว้นจากการกระทำที่เป็นภัยต่อผู้อื่น
หมวดสมาธิ หมายถึงการทำความดีสามารถควบคุมจิตของตนเองได้
หมวดปัญญา หมายถึงมีความรู้แจ้ง หรือปัญญาที่ช่วยในการขจัดกิเลสที่ทับถมกันอยู่ภายในให้หลุดลอกออกไป

  1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึง เห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
  2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
  3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดแต่สิ่งที่ถูกต้องและบริสุทธิ์ สนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
  4. สัมมากัมมันตะ คือ ทำการชอบ หรือการงานชอบ หมายถึงความบริสุทธิ์ทางกายกรรมทั้งหมด หากการกระทำนั้นเป็นภัยเป็นที่เดือดร้อน รบกวนความสงบสุข และความสมัครสมานสามัคคีของผู้อื่น การกระทำนั้นก็เป็นการก้เป็นการกระทำที่ไม่บริสุทธิ์ และมันจะทำให้ตัวผู้กระทำเองเดือดร้อนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
  5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ถ้าการเลี้ยงชีพนั้นเป็นภัยต่อผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นต้องเจ็บปวด แม้จะหาเงินทองได้มากจากอาชีพนั้น อาชีพนั้นก็มิใช่สัมมาอาชีวะ
  6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
  7. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ ได้แก่การระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน อดีตเป็นเพียงความทรงจำ และอนาคตก็เป็นเพียงความปรารถนา ความกลัวหรือความคาดหวัง ฉะนั้นสัมมาสติจึงเป็นการมีสติอยู่กับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันอย่างที่มันเป็น ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรในขณะนี้ ท่านก็มีสติอยู่กับมัน การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
  8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติจิตจะต้องเป็นจิตที่มีสัมมาสมาธิ คือจิตที่ตั้งมั่นในทางที่ถูกต้องเราจึงจะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางคือ ความหลุดพ้นได้
    อริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ ทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

มรรคมีองค์แปด สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา

    ข้อ 3-4-5 เป็น ศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)
    ข้อ 6-7-8 เป็น สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
    ข้อ 1-2 เป็น ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ)

อริยมรรคมีองค์ ๘ คืออะไรบ้าง
๑. เห็นถูกต้อง คือ เห็นตามอริยสัจ ๔ 
๒. คิดถูกต้อง  คือ ใจบริสุทธิ์ เป็นอิสระจากอารมณ์ โลภ โกรธ หลง เป็นไปเพื่อความสุข ความเมตตา  ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
๓. พูดถูกต้อง คือ พูดในสิ่งที่เป็นจริง เป็นประโยชน์ ถูกกาละเทศะ สุภาพและอ่อนโยน ด้วยจิตเมตตา และหวังดี
๔. ทำถูกต้อง คือ มีเมตตา(ไม่ฆ่าสัตว์) ซื่อสัตย์(ไม่ลักทรัพย์) ให้ทาน สำรวมในคู่ของตน 
๕. อาชีพบริสุทธิ์ เมื่อเห็นถูกต้อง คิดถูกต้อง พูดถูกต้อง ทำถูกต้อง อาชีพย่อมบริสุทธิ์ 
๖. เพียรถูกต้อง คือ เพียรในการละบาปเก่า ระวังบาปใหม่ที่จะเข้ามา เพียรสร้างกุศล และรักษากุศลที่สร้างไว้ไม่ให้เสื่อม
๗. สติถูกต้อง คือ การระลึกเป็นภายในอยู่เนืองๆ คือ ระลึกไปตามฐานทั้ง ๔ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔
๘. สมาธิถูกต้อง คือ เมื่อจิตสงบ จิตจึงตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่น ฌาน,ญาณจึงเกิด

มรรคมีองค์แปด ทั้งแปดส่วนมีความต่อเนื่องและเอื้อกันอยู่อย่างแยกไม่ออก ถ้าเรามีความเห็นชอบหรือมีความเข้าใจถูกต้องเป็นเบื้องต้น ซึ่งเป็นตัวปัญญา ความดำริชอบ วาจาชอบ การกระทำชอบ อาชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกรู้ชอบ การดำรงใจมั่นชอบก็จะตามมาทุกส่วน ปัญหามีอยู่ว่าเริ่มต้นตัวปัญญาไม่มี ทำให้เราเห็นชอบและดำริชอบไม่ได้ จะทำอย่างไร ไม่ใช่มานั่งคิดเอาเองว่าฉันต้องเห็นชอบนะ ต้องดำริชอบนะ คิดยังไงก็ทำไม่ได้ เพราะมันไม่มี ขบวนการที่จะทำให้เกิดปัญญาจึงเกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากศีลก่อนก็ได้ สมาธิก่อนก็ได้ ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ปัญญาไม่เกิด เพราะขาดสติ การเจริญสติ จึงเป็นแนวทางหนึ่งของพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดปัญญา สติจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสมาธิก่อน อุบายวิธีเพื่อทำให้เกิดสมาธิ ในพระพุทธศาสนาจึงมีอยู่มากมาย แต่ก็รวมอยู่ในการปฏิบัติกรรมฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น