วิปัสสนูปกิเลส
วิปัสสนูปกิเลส เป็นการปรุงแต่งของกุศล คือธรรมเครื่องเข้าไปทำวิปัสสนาให้เศร้าหมอง เมื่อพบกับธรรมชนิดนี้เข้า หากโยคียึดถือเอาเป็นจริงเป็นจัง ก็ย่อมหมดหวังที่จะก้าวขึ้นไปสู่พระวิปัสสนาญาณเบื้องสูงต่อไปได้
มิจฉาสมาธิ มีเหตุให้เกิดขึ้นจาก มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดเข้าใจผิดจากความเป็นจริง มีตัณหาคือความอยากเป็นต้นเหตุที่สำคัญ เมื่อจิตมีความสงบเป็นสมาธิแล้วจึงเกิดภาพหลอกที่เรียกว่านิมิต นิมิตนี้เองจึงเป็นกลลวงของกิเลสสังขาร ผู้ไม่มีปัญญาจึงเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของจริง มีความดีใจ พอใจในนิมิตนั้น ๆ จนลืมตัวจึงเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของดี มีความฝักใฝ่พอใจในนิมิตจนจิตเกิดเป็นวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว นี้ก็เพราะไม่มีปัญญารอบรู้ในวิธีทำสมาธิที่ถูกต้องนั่นเอง จึงทำให้จิตเกิดวิปลาสเหม่อลอย ไม่มีสติควบคุมจิตของตัวเองได้เลย ที่เรียกว่ากรรมฐานแตกเป็นบ้านไปก็เป็นในลักษณะนี้ก็เพราะทำสมาธิไม่มีปัญญาเป็นองค์ประกอบรอบรู้เอาไว้ ถ้าทำสมาธิมีความจริงจังมากเท่าไรก็จะเพิ่มวิปลาสมากขึ้นเท่านั้น สติปัญญาไม่มี อาการของวิปัสสนูปกิเลสก็เริ่มปรากฏตัวขึ้นที่ใจ ดังจะได้อธิบายเรื่องของวิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้นจากมิจฉาสมาธิ ที่มีความสงบอย่างผิด ๆ ให้ผู้ทำสมาธิรับรู้เอาไว้ เพื่อจะได้ข้อคิดสังเกตดูตัวเองว่า เมื่อทำสมาธิไปแล้วมีผลเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ถ้าผิดไปก็จะได้แก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์
ที่เกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิที่มีความเห็นผิดในส่วนลึกของใจยังไม่ได้แก้ไข เมื่อทำสมาธิให้ใจมีความสงบแล้ว ความเห็นผิดนี้ก็แสดงกิริยาออกมาจากใจ ลักษณะของวิปัสนูปกิเลสนี้มีความใกล้เคียงกับวิปัสสนามาก ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะเกิดความมั่นหมายว่าเป็นวิปัสสนาไป แม้ผู้อื่นที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็รู้ได้ยาก ไม่ทราบว่าของจริงหรือของปลอมเพราะกิริยามารยาท ความเคลื่อนไหวทางกายและวาจามีความสำรวมดีมาก ตลอดจนความเพียรก็โดดเด่นน่าเชื่อถือ การอธิบายธรรมะในทางปฏิบัติแล้วมีทั้งละเอียดอ่อนและโลดโผน การวิจัยวิเคราะห์ในหมวดธรรมต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ถ้าผู้ได้รับฟังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็จะรับรองว่าถูกต้อง และส่งเสริมกันต่อไป ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายได้มีความระวังตัว ดังจะอธิบายในวิปัสสนูปกิเลส ดังนี้
๑. โอภาส แสงสว่างไม่มีประมาณ ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการทำสมาธิ เมื่อจิตมีความสงบแล้วจะปรากฏเส้นแสงสว่างขึ้น แสงสว่างจะมีความนุ่มนวลลักษณะไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นโอภาสความสว่างทั้งหมด เมื่อทำสมาธิมีลักษณะนี้เกิดขึ้น ผู้บำเพ็ญจิตบื้องต้น พอจิตสงบแล้วเกิดนิมิต เห็นแสงสว่าง เท่านี้ไม่จัดเข้าวิปัสสนูปกิเลส นี้เป็นแสงที่เกิดจากการเห็นของธรรมชาติ แม้การเห็นเป็นธรรมชาติเป็นของจริงก็ตาม การที่จะถือเอาของจริงแท้นั้นก็ผิด เพราะความจริงที่เห็นนี้สำหรับด้วยญาณต่างหาก ไม่ใช่ให้ติดข้อฝพัวพัน ถ้าติดข้องก็เป็นกิเลส ถ้าผู้ไม่เข้าใจก็จะเกิดความเชื่อไปว่านี้เป็นแสงธรรมขึ้นที่ใจเราแล้ว หรือเข้าใจว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว จะมีความพอใจยินดีกับแสงสว่างนั้น จึงขอเตือนแก่นักปฏิบัติว่า เมื่อมีแสงสว่างลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เรา ก็ให้มันเกิดไป อย่าไปสนใจว่าเป็นแสงธรรมแสงปัญญาแต่อย่างใด นั่นเป็นสังขารจิต อาการของจิตที่เป็นมารหลอกใจให้เราหลงเท่านั้น
๒. ปิติ ความเอิบอิ่มใจอันแรงกล้า เบิกบานใจ ซาบซ่านในตัวอันเกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกสมาธิในขั้นต้น ไม่จัดเข้าในขั้นนี้ ปิติที่จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น เป็นความเยือกเย็นอันได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เช่น เห็นว่าธาติทั้งหลาย สักแต่ว่าธาตุ เป็นธรรมธาตุแห่งสภาพจริงๆ ความปิตืเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยพบก็จะได้พบ เมื่อพบเข้าเลยอดความอิ่มใจอย่างแรงกล้า เข้าใจว่าเป็นของจริง ทำให้ติด เกิดเป็นกิเลสเป็นเหตุให้ยึดถือเป็นธรรมพิเศษ หรืออมตธรรม จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็จะมีความเอิบอิ่มใจทั้งวันทั้งคืน เพลิดเพลินยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่กับปิตินี้ตลอดเวลา หรือเป็นลักษณะขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหลในบางขณะ ผู้มีปิติในลักษณะอย่างนี้จะมีความรู้สึกว่าสบายใจ เบิกบานใจเป็นอย่างมาก อยากให้ลักษณะอย่างนี้อยู่กับตัวตลอดไป และเข้าใจว่าเป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นกับตน และเป็นผลของการปฏิบัติอย่างแท้จริง ถ้าหากนักภาวนาเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ให้มีความรู้เท่าทันว่าไม่ใช่ความจริงของธรรมะ เมื่อเกิดขึ้นได้มันก็ต้องเสื่อมไปได้อย่าไปดีใจกับเรื่องนี้เลย
๓. ปัสสัทธิ เกิดความสงบกายสงบใจเป็นอย่างมาก ไม่คิดวอกแวกไปสู่ภายนอกเหมือนที่เคยเป็นมา มีความสงบเยือกเย็น ไม่ร้อนไม่หนาวไปตามอากาศที่เปลี่ยนแปลง เหมือนไม่มีอะไรจะก่อให้เกิดทุกข์ได้ อยู่ที่ไหนใจก็มีความสงบแน่วแน่อยู่ทั้งวันทั้งคืน ความพอใจความยินดีในความสงบนี้อยากให้มีตลอดไป ในขณะใจมีความสงบอยู่นี้ เหมือนกับว่ากิเลส ตัณหา ความรัก ความใคร่ ความพอใจในกามคุณไม่มีในใจเลย หรือ อาจเข้าใจว่าหมดไปจากใจแล้วก็เป็นได้ หรืออาจเข้าใจว่าเราได้บรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่งไปแล้ว ถ้านักปฏิบัติเป็นไปในลักษณะนี้ก็อย่าตื่นเต้น อย่าเข้าใจผิดว่าคุณธรรมได้เกิดขึ้นกับเรา นี่เป็นเพียงอาการของจิตที่เกิดจากความสงบเท่านั้น
๔. สุขะ มีความสุชกายสุขใจเป็นอย่างยิ่ง ความสุขเกิดแก่จิตของผูฝึกหัดใหม่นั้นแม้จะครั้งสองครั้ง หรือชั่วขณะชั่วคราวไม่จัดเข้าเป็นวิปัสสนูปกิเลส สุขะที่จัดป็นกิเลสนั้น เป็นผลไปจากการเห็นธาตุทั้งหลายว่าเป็นจริง เกิดความสงบสุขยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ความสุขนี้จะมีขั้นสูงขึ้นตามลำดับแห่งการเห็นตามเป็นจริงแห่งธรรมธาตุ ถ้าติดเป็นกิเลสป็นเหตุให้พอใจเพียงแค่นี้ จะไม่ก้าวหน้าต่อไป อยากให้ความสุขอย่างนี้อยู่กับเราตลอดไป ดังภาษิตว่า ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสุขนี้ไม่เหมือนกับความสุขในทางโลกแต่อย่างใด คิดว่าตัวเองได้พบความสุขอย่างแท้จริงแล้ว ฉะนั้นนักปฏิบัติจึงมีความพอใจในความสุขนี้เป็นอย่างมาก อยากให้มันอยู่กับใจตลอดไปไม่เสื่อมคลาย เมื่อนักปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ก็อย่าให้เกิดความหลงอยู่กับความสุขนี้เลย อีกไม่นานความสุขนี้ก็เสื่อมจากใจไปเท่านั้นเอง เมื่อความสุขนี้เจือด้วยด้วยสังขาร อีกไม่นานก็เสื่อม
๕. ญาณะ ความรู้ไม่มีประมาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นในขั้นต้น เป็นต้นว่ารู้ว่าจิตสงบ หรือรู้อยู่เฉาะหน้าบ้าง อย่างนี้ไม่จัดเข้าในขั้นนี้ ความรู้ที่จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น คือความรู้ที่หยั่งรู้ว่า จิตเรานี้มีความสว่างจริง เช่น เห็ธาตุว่าเป็นธาตุจริง ชนิดนี้เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน แน่ล่ะถ้าเป็นของจริงเลยเข้าใจว่ารู้นี้เป็นธรรมแท้ จึงเป็นกิเลสเป็นเหตุให้ถือตัว แต่ความจริงแล้วท่านให้ใช้ความรู้นี้พิจารณาให้ยิ่งเท่านั้น มิใช่ให้ถือเอาความรู้ ก็เท่ากับถือเอาเครื่งมือว่าเป็นของจริง ท่านจึงห้ามติด มีญาณรู้เกิดขึ้นที่ใจ บางครั้งก็เป็นความรู้เกี่ยวกับทางโลก บางครั้งก็เป็นความรู้ในทางธรรมในหมวดต่างๆ ถ้าธรรมะที่ตรงกับตำราที่เคยศึกษามา หรือธรรมะที่เคยได้ยินจากครูอาจารย์เคยสอนมาแล้ว เมื่อเกิดความรู้ตรงตามนี้ก็จะเกิดความมั่นใจในตัวเองสูงมาก จึงเกิดความมั่นใจว่าคุณธรรมปัญญาธรรมได้เกิดขึ้นกับเราแล้ว เมื่ออยากรู้ในสิ่งใดก็กำหนดถามใจตัวเอง แล้วก็มีความรู้ตอบขึ้นมาที่ใจ ญาณรู้นี้ ถ้าเร่งความเพียรมากขึ้นเท่าไร ก็จะเกิดญาณรู้ขัดเจนมากขึ้น เมื่อญาณรู้เกิดขึ้นใครผู้นั้นจะชอบพูดชอบถามในความรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวเองอยู่เสมอคำพูดคำถามนั้นเป็นลักษณะขัมผู้อื่นไปในตัว และพูดด้วยความจริงจังมาก แต่ก็มีความเย่อหยิ่งอวดดีไปในตัว อยากลองภูมิจากผู้อื่นว่าจะรู้ธรรมอย่างนี้ เหมือนเราหรือไม่ ถ้าผู้อื่นไม่รู้ก็จะพูดอวดธรรมะนั้นๆ ให้ฟัง พูดในลักษณะให้เขาสอนยอมรับความรู้ของตัวเอง บางคนจึงพยากรณ์ตัวเองว่าจะได้บรรลุธรรมไปแล้วก็มี ซึ่งขอฝากกับนักปฏิบัติทั้งหลายเอาไว้ เมื่อเกิดญาณรู้ในลักษณะอย่างนี้ขึ้น ก็อย่าลืมตัว นี่เป็นเพียงสังขาร เป็นญาณรู้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง
๖. อธิโมก คือน้อมใจเชื่อ เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่าเป็นความจริง เริ่มมีความเชื่อมาจากโอภาส ความสว่างมาแล้ว จากนั้นก็มาเชื่อปิติ ที่มีความเอิบอิ่มใจตัวเอง แล้วก็มาเชื่อปัสสัทธิ คือความสงบสงัดใจตัวเอง แล้วมาเชื่อในสุขะ คือความสุขที่เกิดขึ้นจากใจตัวเอง แล้วก็มาเชื่อในญาณะ คือความรู้ที่เกิดขึ้นทางใจ เมื่อมีญาณรู้เกิดขึ้นอย่างนี้แล้วจะมีความเชื่อมั่นในส่วนลึกของใจอย่างฝังแน่นทีเดียว และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นแนวทางที่ถูกต้อง การน้อมใจเชื่ออย่างนี้เป็นความเชื่อที่ขาดจากเหตุผล จึงเรียกว่า ศรัทธาวิปปยุต คือความเชื่ออย่างงมงาย ไม่มีความฉลาดรอบรู้ทางปัญญาเลย คำว่าความเชื่อมิใช่ว่าจะเชื่ออะไรทั้งหมด ให้เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อเท่านั้น ก่อนจะเชื่อในสิ่งใดต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ รอบรู้ด้วยเหตุด้วยผล จึงเรียกว่า ศรัทธาญาณสัมปยุต คือเชื่ออย่างมีความฉลาดทางสติปัญญา จึงขอเตือนนักภาวนาไว้ว่า อะไรเกิดขึ้นจากการทำสมาธิ อย่าพึงน้อมใจเชื่อว่าเป็นของจริงทั้งหมด การปักใจเชื่อเร็วเกินไปจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ถ้าผิดพลาดไปแล้วก็ยากที่จะแก้ไข ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดจนตลอดวันตาย เปรียบเหมือนคนทั้งหลายจะพากันเดินทางจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพ เช่นเขาทั้งหลายอยู่เชียงใหม่ แต่กรุงเทพนั้นนะมีจริง พอเขาเดินทางมาถึงลำปาง เขาก็พากันน้อมใจเชื่อว่า ลำปางนี่แหละคือกรุงเทพฯ เขาเหล่านั้นก็ลงรถไฟโดยถืเอาลำปางเป็นกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ มีจริง แต่ต้องขึ้นรถไฟ รถยนต์จากเชียงใหม่ไปให้พอกับความต้องการ ก็จะต้องถึงจนได้ อันการบำ็ญจิต ยิ่งบำเพ็ญยิ่งละอียด ขึ้นเป็นลำดับ น่าทึ่งน่าอัศจรรย์ มีสิ่งประหลาดมากมายทีเดียวจึงเป็นสิ่งที่คล้ายกับธรรมขั้นสูง โดยเหมือนกับมีธรรมผุดขึ้นมาบอกว่าถึงธรรมขั้นนั้นขั้นนี้บ้าง ได้เห็นอริยสัจบ้าง น้อมใจชื่อมันแล้ว เป็นกิเลสตัวใหญ่กางกั้นความดีที่กำลังจะก้าวหน้าไปอย่างน่าเสียดาย
๗. ปัคคาทะ มีความเพียรที่เข้มแข็ง เป็นผู้มีความตั้งใจจริงจังในการปฏิบัติแต่ความเพียรของผู้เป็นวิปัสสนูปกิเลสนี้จะเน้นหนักในการทำสมาธิอย่างจริงจังทีเดียว จะปรารภความเพียรในอิริยาบถใด ก็เป็นไปในสมาธิเพียงอย่างเดียว มีความเข้าใจว่าการใช้ปัญญาพิจารณานั้นจะทำให้จิตเกิดความฟุ้งซ่าน ไม่มีความสงบตั้งมั่นไม่เป็นเอกัคตารมณ์ฉะนั้นจึงทำสมาธิให้จิตเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ความเพียรในลักษณะอย่างนี้จะเป็นกำลังหนุนให้วิปัสสนูปกิเลสข้ออื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นได้เกิดความเด่นชัดมากขึ้น หลงว่าเป็นความจริงโดยไม่รู้ตัว จึงได้น้อมใจปักใจเชื่ออย่างฝังใจอย่างแนบแน่นทีเดียว ในที่นี้ท่านต้องการความพอดีเหมือนกับการรับประทานอาหารไม่อิ่มแต่เราถือว่า อิ่ม นี่คือไม่พอดี ถ้าเรารับประทานอาหาร อิ่ม ยิ่งเติมเข้าไปก็เกินความพอดี เราจะต้องทราบความละเอียดที่เกิดผลตามสมควร จึงเชื่อว่าพอดี ไม่หักโหมเกินไปจนเป็นเหตุให้ถือเอาความเพียรข่มผู้อื่น อันจะกลับกลายเป็นกิเลสไป
๘. อุปัฏฐาน มีสติระลึกได้อย่างชัดเจนมาก อุปัฏฐาน หมายถึง สติแก่กล้า สติชัด จะระลึกในคำบริกรรม ทำสมาธิด้วยอุบายใด สติก็จะระลึกในคำบริกรรมนั้นไม่ให้เผลอ จะปรารภความเพียรด้วยอุบายใด สติก็จะอยู่กับความเพียรนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา แม้แต่จิตมีความนึกคิดอย่างไร สติก็จะมีความระลึกได้ในความนึกคิดของตัวเองอยู่เสมอ นักปฏิบัติอาจมีความสงสัยอยู่ว่าทำมีสติดีถึงขนาดนี้ จึงเป็นวิปัสสนูปกิเลสได้ ตอบสติดีก็จริงแต่ดีในปลายเหตุ ความผิดเดิมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ที่ยังฝังลึกอยู่ในหัวใจมาก่อนยังไม่ได้แก้ไข สติที่เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ เมื่อเข้าไปรวมอยู่กับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเมื่อไรก็จะกลายเป็นมิจฉาสติ ระลึกผิดไปตามกันทั้งหมด
๙. อุเบกขา ความวางเฉยของใจ ความวางเฉยในที่นี้มิใช่ว่าจะวางเฉยไปเสียทั้งหมด ความเพียรเคยปฏิบัติมาอย่างไร ก็จะปฏิบัติตามความเพียรอย่างนั้นไป ความวางเฉยเป็นอกิริยามีอยู่เฉพาะใจโดยตรง ส่วนกิริยาเคยทำทางกายมาอย่างไร และเคยพูดอย่างไรก็พูดไปตามปกติ ส่วนใจที่เป็นอกิริยานั้นจะวางเฉยเฉพาะใจเท่านั้น ใจจะไม่เกิดอารมณ์ตามในสิ่งที่เข้ามาสัมผัสนั้นเลย ไม่ว่าอารมณ์แห่งความรัก ความชัง ราคะตัณหา อารมณ์แห่งความไคร่ ความยินดี จะไม่มีในใจนี้เลย ไม่มีความกะตือรือร้นไปกับสิ่งใดๆ เพราะใจวางเฉยอยู่แล้ว ถึงจะมีความเพียรภาวนาปฏิบัติอยู่ก็เป็นลักษณะเฉยๆ ถึงจะมีสติก็มีเฉยๆ ถ้านักปฏิบัติเป็นอุเบกขาอย่างนี้ การสำรวมกาย การสำรวมวาจา และการสำรวมใจ จะเยี่ยมยอดทีเดียว จะเป็นความเคารพเชื่อถือแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ถ้าอุเบกขาในวิปัสสนูนี้เกิดขึ้นกับผู้กำลังศึกษาอยู่ ผู้นั้นก็จะหมดอนาคตในการศึกษานี้เลย เพราะไม่มีจิตใจเกิดความฝักใฝ่ในการศึกษานั่นเอง ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้จะแก้ไขได้ยากมาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย นี่เป็นเพราะพื้นฐานเดิมมีความเห็นผิดในมิจฉาทิฏฐิมาก่อนผลจึงออกมาในลักษณะอย่างนี้ วิปัสสนูปกิเลส การเข้าใจเอาเองว่า นี่เป็นวิมุติธรรม ยังไม่ถึงอริยสัจเต็มที่ มาวางเฉยเสียก่อนเป็น
การคำนึงเอง หรือเป็นการ ชิวสุกก่อนห่าม ท่านจึงจัดเป็นสิ่งเศร้าหมอง
นักปฏิบัติควรระวังเป็นพิเศษ อย่าไปวางเฉยเอาง่ายๆ
ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน
๑๐. นิกันติ จะเกิดความพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่ผ่านมาแล้ว ว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด ใครจะมาแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นนั้นไม่ได้เลย นี่คือวิปัสสนูปกิเลสตัวสุดท้าย ถ้าใครได้พบเห็นผู้ที่เป็นลักษณะอย่างนี้ จะช่วยชี้แนะแนวทางให้เขากลับใจ เป็นสัมมาทิฏฐินั้นยากมาก เพราะแนวทางปฏิบัติของเขาเป็นมาอย่างนี้ ผลที่ได้รับก็ออกมาอย่างนี้ ความเชื่อถือ ความพอใจ ความยินดี ได้หยั่งรากฝังลึกในความรู้สึกอย่างนี้แล้ว จะไม่ยอมกลับใจอย่างแน่นอน จะมอบกายถวายชีวิตอุทิศตัวเองให้เป็นไปในลักษณะนี้จนตลอดวันตาย ไม่มีใครแล้วในยุคนี้จะแก้ได้
แต่ถ้าผู้นั้นเป็นเพียงข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ พอมีทางแก้ไขได้ แต่ถ้าเป็นข้อ ๕ ขึ้นไป ก็ยากที่จะแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้เลย เพราะผู้เป็นวิปัสสนูนี้มีมานะทิฏฐิสูงมาก มีความรู้เห็นเฉพาะตัว ใครจะไปพูดว่าผิดนั้นไม่ได้เลย ยกเว้นผู้มีนิสัยเคยเกี่ยวข้องกันมาในอดีตชาติเท่านั้นพอจะแก้ไขได้ ถ้าไม่อย่างนี้เขาก็จะไม่เข้าใจคำตักเตือนจากใครๆ ทั้งนั้น
ในยุคปัจจุบันนี้มีความนิยมภาวนาทำสมาธิเป็นส่วนมาก การทำสมาธิขอให้เป็นสัมมาสมาธิก็แล้วกันเพราะสัมมาสมาธิเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด เป็นแนวทางที่จะให้เกิดวิปัสสนา ไม่เหมือนทำสมาธิแล้วกลายเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะมิจฉาสมาธิจะทำให้เกิดเป็นวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ มีความสงบได้เหมือนกัน แต่ความเห็นที่เกิดขึ้นจะไม่เหมือนกัน สัมมาสมาธิจะมีความเห็นเป็นไปในสายพระอริยเจ้ามิจฉาสมาธิจะมีความเห็นผิดสายทางพระอริยเจ้า ที่ได้เขียนเรื่องมิจฉาสมาธินี้เป็นสายทางให้เกิดเป็นวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างนี้เอาไว้ เพื่อจะได้ศึกษาและสังเกตุดูตัวเองว่า เป็นไปในวิปัสสนูปกิเลสนี้หรือไม่ ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้เกิดขึ้นแก่เรา ก็ให้หยุดเอาไว้ เพื่อจะมาทำความเข้าใจในตัวเองเสียใหม่ หรือไปถามครูอาจารย์ ผู้ที่มีความชำนาญในการทำสมาธิที่ถูกต้อง อย่าฝืนทำสมาธิที่ผิดให้มากไปกว่านี้ มันจะเกิดปัญหาตามมาทีหลัง เพราะวิปัสสนูปกิเลสเป็นผลเกิดขึ้นจากมิจฉาสมาธิ คือความตั้งใจไว้ผิด มิจฉาสมาธิเป็นผลเกิดข้นจากมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดเป็นต้นเหตุ เมื่อต้นเหตุเป็นฐานความเห็นผิดไว้แล้ว จะภาวนาปฏิบัติอย่างไร ด้วยอุบายใดก็ตาม ก็จะภาวนาผิดไปทั้งหมด ฉะนั้นขอให้นักภาวนาปฏิบัติทั้งหลาย จงมีความรอบรู้ในการปฏิบัติของตนนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ที่มา หนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน เล่ม ๗, พระอาจารย์ วิริยังค์ สิรินฺธโร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น