วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น ตามแนววิชชาธรรมกาย

ที่ตั้งจิตทั้ง 7 ฐาน









สมาธิ คือ ความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนากำหนดเอาไว้เป็นข้อควรปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตทุกวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญาอันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัย ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังวิธีปฏิบัติที่ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้เมตตาสั่งสอนไว้ดังนี้
  1. กราบบูชาพระรัตนตรัย เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้นุ่มนวลไว้เป็นเบื้องต้น แล้วสมาทานศีลห้า หรือศีลแปด เพื่อย้ำความมั่นคงในคุณธรรมของตนเอง
  2. คุกเข่าหรือนั่งพับเพียบสบายๆ ระลึกถึงความดี ที่ได้กระทำแล้วในวันนี้ ในอดีต และที่ตั้งใจจะทำต่อไปในอนาคต จนราวกับว่าร่างกายทั้งหมดประกอบขึ้นด้วยธาตุแห่งคุณงามความดีล้วนๆ
  3. นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ขวาจรดนิ้วหัวแม่มือซ้าย นั่งให้อยู่ในท่าที่พอดี ไม่ฝืนร่างกายมากจนเกินไป ไม่ถึงกับเกร็ง แต่อย่าให้หลังโค้งงอ หลับตาพอสบายคล้ายกับกำลังพักผ่อน ไม่บีบกล้าเนื้อตาหรือขมวดคิ้ว แล้วตั้งใจมั่น วางอารมณ์สบาย สร้างความรู้สึกให้พร้อมทั้งกายและใจว่ากำลังจะเข้าไปสู่ภาวะแห่งความสงบสบายอย่างยิ่ง
  4. นึกกำหนดนิมิต เป็น”ดวงแก้วกลมใส” ขนาดเท่าแก้วตาดำ ใสบริสุทธิ์ ปราศจากราคี หรือรอยตำหนิใดๆ ขาวใส เย็นตาเย็นใจดังประกายของดวงดาว ดวงแก้วกลมใสนี้เรียกว่า บริกรรมนิมิต นึกสบายๆนึกเหมือนดวงแก้วนั้นมานิ่งสนิทอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด นึกไปภาวนาไปอย่างนุ่มนวลเป็นพุทธานุสติว่า สัมมาอะระหัง หรือค่อยๆน้อมนึกดวงแก้วกลมใสให้ค่อยๆเคลื่อเข้าสู่ศูนย์กลางกายตามแนวฐาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ฐานที่หนึ่งเป็นต้นไป น้อมด้วยการนึกอย่างสบาย ใจเย็นๆ ไปพร้อมๆกับคำภาวนา
เมื่อนิมิตดวงใสและกลมสนิทปรากฏแล้ว ณ กลางกาย ให้วางอารมณ์สบายๆกับนิมิตนั้น จนเหมือนกับว่าดวงนิมิตเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ หากดวงนิมิตนั้นเกินอันตรธานหายไปก็ไม่ต้องนึกเสียดาย ให้วางอารมณ์สบาย แล้วนึกนิมิตนั้นขึ้นมาใหม่แทนดวงเก่า หรือเมื่อนิมิตนั้นไปปรากฏที่อื่นที่ไม่ใช่ศูนย์กลางกาย ให้ค่อยๆน้อมนิมิตเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการบังคับ และเมื่อนิมิตมาหยุดสนิท ณ ศูนย์กลางกาย ให้วางสติลงไปยังจุดศูนย์กลายของดวงนิมิต ด้วยความรู้สึกคล้ายมีดวงดาวดวงเล็กๆอีกดวงหนึ่งซ้อนอยู่ตรงกลางดวนิมิตดวงเดิม แล้วสนใจเอาใจใส่แต่ดวงเล็กๆตรงกลางนั้นไปเรื่อยๆ ใจจะปรับจนหยุดได้ถูกส่วน เกิดการตกศูนย์และเกิดดวงสว่างขึ้นมาแทนที่ ดวงนี้เรียกว่า “ดวงธรรม” หรือ “ดวงปฐมมรรค” อันเป็นประตูเบื้องต้นที่จะเปิดไปสู่หนทางแห่งมรรคผลนิพพานการระลึกนึกถึงนิมิตสามารถทำได้ในทุกแห่ง ทุกที่ ทุกอริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน หรือขณะทำภารกิจใดๆ


ข้อแนะนำ คือ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ทำเรื่อยๆ ทำอย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหน ให้พอใจแค่นั้น อันจะเป็นเครื่องสกัดกั้นใจมิให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง และเมื่อการปฏิบัติบังเกิดผลแล้ว ให้หมั่นตรึกระลึกนึกถึงอยู่เสมอจนกระทั่งดวงปฐมมรรค กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ หรือนึกเมื่อใดเป็นเห็นได้ทุกที อย่างนี้แล้ว ผลแห่งสมาธิจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งความสุข ความสำเร็จ และความไม่ประมาทได้ตลอดไป ทั้งยังทำให้สมาธิละเอียดอ่อนก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง
  1. อย่าใช้ กำลัง คือไม่ใช่กำลังใดๆ ทั้งสิ้น เช่น ไม่บีบกล้ามเนื้อตา เพื่อจะให้เห็น นิมิตเร็วๆ ไม่เกร็งแขน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม้เกร็งตัว ฯลฯ เพราะการใช้้กำลัง ตรงส่วนไหนของร่างกายก็ตาม จะทำให้จิตเคลื่อน จากศูนย์กลางกายไปสู่จุดนั้น
  2. อย่าอยากเห็น คือทำใจให้เป็นกลาง ประคองสติมิให้เผลอ จาก บริกรรมภาวนา และบริกรรมนิมิต ส่วนจะเห็นนิมิตเมื่อใดนั้น อย่ากังวล ถ้าถึงเวลาแล้วย่อมเห็นเอง การ บังเกิดของดวงนิมิตนั้น อุปมาเสมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ เราไม่อาจจะเร่ง เวลาได้
  3. อย่ากังวลถึงการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะการฝึกสมาธิเพื่อ ให้เข้าถึง พระธรรมกายภายใน อาศัยการนึกถึง "อาโลกกสิณ" คือกสิณ ความสว่างเป็นบาท เบื้องต้น
  4. เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้วให้ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกายที่เดียว ไม่ว่า จะอยู่ใน อิริยาบถใด ก็ตาม เช่น ยืนก็ดี เดินก็ดี นอนก็ดี หรือนั่งก็ดี อย่าย้าย ฐานที่ตั้งจิตไปไว้ ที่อื่นเป็นอันขาด ให้ตั้งใจบริกรรมภาวนา พร้อมกับนึกถึง บริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส ควบคู่กันตลอดไป
  5. นิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะต้องน้อมไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายทั้งหมด ถ้านิมิต เกิดขึ้นแล้วหายไปก็ไม่ต้องตามหา ให้ภาวนาประคองใจต่อไปตามปกติ ในที่สุดเมื่อจิต สงบ นิมิตย่อมปรากฏขึ้นใหม่อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น