วิปัสสนาญาณที่ 4

วิปัสสนาญาณที่ 4 เป็นญาณระดับสูงสุดที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปส่วนใหญ่จะเข้าถึง แต่หยุดแค่เพียงระดับนี้ เพราะเมื่อเริ่มเข้าสู่ญาณ 4 จะเกิดสิงอัศจรรย์ที่ทำให้เกิดกิเลสชึ้นอย่างมากมาย ถ้าไม่มีพระอาจารย์คอยชี้แนะ โอกาสที่จะขึ้นต่อไปถึงญาณ 5-15 เป็นไปไม่ได้เลย

ความอัศจรรย์ลำดับที่ 1 คือแสงสว่าง(โอภาส) จะเกิดแสงสว่างขึ้นในใจ และราวกับว่าสว่างไปรอบกาย เป็นแสงสีที่ไม่เคยเห็นด้วยตาเนื้อมาก่อน งดงามเหนือคำบรรยาย ส่องกระทบสิ่งใดจะเปล่งประกาย สวยสดราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ จะเกิดความยินดีพอใจ จนไม่สนใจตั้งสติกำหนดการเกิด-ดับของรูป-นามอีกต่อไป

ความอัศจรรย์ลำดับที่ 2 จะเกิดปัญญาญาณ (ญาณะ) ระดับที่ทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่งไปหมด เห็นเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จะนึกจะคิดสิ่งใดก็เข้าใจได้อย่างง่ายดาย ผู้ปฏิบัติหลายคนเกิดความเข้าใจผิดว่าตัวเองบรรลุญาณหยั่งรู้ทุกสรรพสิ่งแล้ว

ส่วนความอัศจรรย์ลำดับที่ 3, 4, 5 จะเกิดขึ้นเกือบพร้อมๆ กันคือจะเกิด ปิติ รู้สึก อิ่มเอิบใจอย่างบอกไม่ถูก พร้อมกับพบความสุขชนิดที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในทางโลก และเกิดความสงบอย่างมากเมื่อพบกับปิติ สุข และสงบเช่นนี้แล้ว ยากนักที่ใครจะหลุดพ้นจากกับดักนี้ได้ เพราะความรู้สึกนั้นเหนือกว่าสุขที่ได้จากทางโลกหลายร้อยเท่า เมื่อเกิดความยินดี พอใจ และยึดติด วิปัสสนาญาณก็จะหยุดเพียงระดับนี้

ผู้ปฏิบัติธรรมที่สามารถเอาชนะความอัศจรรย์ทั้งห้านี้ได้ เท่ากับผ่านญาณ 4 ไปแล้วครึ่งหนึ่ง แสดงว่ากำลังสติและปัญญาต้องสูงพอสมควร จึงสามารถสลัดสุดยอดกิเลสเหล่านี้ออกไปได้

การที่เอาชนะโอภาส ญาณหยั่งรู้ ปิติ สุข และสงบได้แสดงว่าต้องมีพลังแห่งอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ(ความพอใจ) วิริยะ(ความเพียร) จิตตะ(ความมุ่งมั่น) และวิมังสา(การวิเคราะห์) ในการปฏิบัติสูงมาก แต่การมีอิทธิบาท 4 มากเกินไปโดยเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ไม่ดำเนินอยู่ในทางสายกลาง จะทำให้เกิดอาการร้อนวิชา สร้างความเพียรอย่างแรงกล้ามากเกินไป หลงพยายามจนขาดสติ หรือในทางตรงข้ามพยายามจนเกินกำลังสติที่เหนือคนธรรมดา สามารถใช้สติไปจับรายละเอียดของปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างชัดเจนสามารถเล่นกับความไวของสติได้ จนหลงยึดติดคิดว่าตัวเองมีฤทธิ์และพอใจกับการค้นพบความมหัศจรรย์นั้น

ถ้าสามารถผ่านด่านนี้ไปได้ คือปฏิบัติตามสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อน ไม่ยึดติดกับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง สิ่งสุดท้ายที่จะเป็นอุปสรรคสำหรับการผ่านพ้นญาณ 4 คืออุเบกขา ซึ่งจะเกิดความรู้สุกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย และไม่ยึดติดกับกิเลสทั้งหลายที่ผุดขึ้นมา แต่กลับปรากฏว่าได้พบกับความสุขจากการไม่ยึดติดกับกิเลสอย่างเทียบกันไม่ได้ อย่างไรก็ตามการหลงพอใจในอุเบกขาก็จะทำให้วิปัสสนาญาณก้าวหน้าไม่ได้เลย

อาการที่ชี้ว่าใกล้จะผ่านพ้นญาณที่ 4 แล้วคือเห็นการเกิด-ดับมาทับซ้อนกัน ณ เวลาเดียวพอเห็นการเกิดก้เห็นความดับทันที ไม่ว่าสิ่งใดมากระทบทางทวารหก เช่น เสียงที่ดังมากระทบหูพอกำหนดปั๊บก็จะเห็นมันดับไปทันที รู้เท่าทันการเกิด-ดับของทุกสิ่งกำหนดตรงไหนก็เห็นการเกิด-ดับไปหมด ถ้ากำหนดรู้เช่นนี้แสดงว่าเริ่มใกล้จะผ่านพ้นญาณที่ 4 และขึ้นสู่ญาณที่ 5

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่เริ่มต้นจนบรรลุญาณที่ 4 ถ้ากำหนดตามหลักสติปีฏฐานอย่างเคร่งครัด จะไม่มีสิ่งใดที่น่ากลัวผุดขึ้นมาหลอกหลอนเลย ที่มีข่าวว่าผู้ปฏิบัติกรรมฐานเกิดอาการเสียสติ แสดงว่าปฏิบัติผิดวิธี

เรื่อง ทันตแทย์สม รุจีรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น