สำหรับผู้ที่ปฏิบัติเจริญสติวิปัสสนาอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถกำหนดรู้การเกิดดับของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เข้าทางทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้อย่างละเอียด
สามารถกำหนด "รูป" ได้ว่ามีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่การจะบรรลุวิปัสสนาญาณโดยอาศัยสติที่ไวไปจับการเปลี่ยนแปลงของ "รูป" เพียงอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ มิฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกคงบรรลุวิปัสสนาญาณกันอย่างง่ายดาย เพราะนักวิทยาศาสตร์ก็คือศาสตร์ที่ศึกษาถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกัน
ความแตกต่างระหว่างพระพุทธเจ้ากับนักวิทยาศาสตร์คือ พระองค์ทรงเน้นไปทำความเข้าใจในส่วนของ "นาม" ซึ่งก็คือการกำหนดไปที่จิต จิตเห็น จิตได้ยิน จิตรู้กลิ่น จิตรู้รส จิตรู้สัมผัส จิตนึกคิด มีสติรู้เท่าทันจิต และกำหนดรู้ถึงสภาวะธรรมในจิตที่ปรุงแต่งใจ
รูป-นาม ในทางวิทยาศาสตร์กับศาสนาพุทธไม่เหมือนกัน เช่นในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า "ความหวาน" เป็นนาม แต่ในทางศาสนาพุทธถือว่า ความหวานเป็นรูป แต่จิตที่เข้าไปรับรู้ความหวานต่างหากที่เป็นนาม วิทยาศาสตร์ถือว่า "เวลา" เป็นนาม แต่ในทางศาสนาพุทธบอกว่า เวลาเป็นรูป แต่จิตที่เข้าไปรับรู้ว่าเวลานั้นมันยาวนานแค่ไหนเป็นนาม
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่สามารถแยก รูป-นาม ออกจากกันได้ด้วยพรสวรรค์ เพราะการแยกรูป (เวลา) ออกจากนาม (จิต) ได้ทำให้เขาค้นพบทฤษฏีอันยิ่งใหญ่ของโลกคือ ทฤษฏีสัมพันธภาพ ซึ่งในช่วงแรกเขาไม่รับรู้จะอธิบายทฤษฎีนี้อย่างไร จึงได้อธิบายในเชิงเปรียบเทียบว่า เอามือวางบนเตาร้อนหนึ่งนาที รู้สึกว่ายาวนานเหมือนกับนั่งกับสาวงามหนึ่งชั่วโมง นั่นแหละคือสัมพันธภาพ
ไอน์สไตน์บรรลุ นามรูปปริจเฉทญาณ คือวิปัสสนาญาณที่ 1 โดยที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ไม่ได้ฝึกสติปัฏฐาน แสดงว่ามีบุญเก่าที่สั่งสมมามากเพราะตามปกติแม้แต่ผู้นับถือศาสนาพุทธ แต่ถ้าไม่ได้รับการฝึกสติอย่างถูกวิธีโอกาสที่จะเข้าสู่นามรูปปริจเฉทญาณเป็นไปไม่ได้เลย
ผู้บรรลุญาณนี้จะสามารถแยกความแตกต่างของธรรมชาติสองอย่างออกจากกันได้ คือเห็นรูปเป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง และเห็นนามเป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง เช่น เหนเวลาเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ ตัวมันเองไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ เป็นเพียงแต่ธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป จัดว่าเป็นรูปธรรม ส่วนตัวเข้าไปรับรู้ เป็นธรรมชาติที่สามารถจะรับรู้อะไรได้ จัดเป็นนามธรรม เห็นความแตกต่างกันของธรรมชาติสองอย่างคือ เห็นรูปอีกอย่างหนึ่ง เห็นนามก็อย่างหนึ่ง (อย่าสับสนกับคำว่า นามธรรม ในเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าเช่นนั้น เวลา ความหอม ความเค็ม จะถือว่าเป็นนาม แต่ในทางพุทธถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นรูป แต่จิตที่เข้าไปรับรู้ว่าหอม เค็ม ต่างหากที่เป็นนาม)
ยิ่งแยกรูป-นามออกจากกันได้ชัดเท่าไร ยิ่งเห็นความจริงแท้ของธรรมชาติชัดขึ้นเท่านั้น ทั้งความจริงแท้ทางกายภาพ และความจริงแท้ทางจิต เช่นลมหายใจที่เข้ากระทบจมูกด้วยจังหวะ ความดัน เย็น ร้อน ขนาดไหน สติที่ไวจะแยกได้ทันทีว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงรูปที่เข้ามากระทบ รูปเหล่านี้ไม่มีตัวรู้ ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ ถ้าไม่มีส่วนของนามวิ่งเข้ามารับ ก็คือจิตใจที่เป็นตัวเข้าไปรู้
ดังนั้นการกำหนดแยกรูป-นามออกจากกันจนเห็นรอยต่อไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าเห็นถึงจุดนี้ก็คือการบรรลึวิปัสสนาญาณระดับที่ 1 นั้นเอง ทำให้เข้าใจว่าในชีวิตนี้มันไม่มีอะไรในเนื้อแท้ จริงๆ แล้วมีแต่รูปกับนามเกิดขึ้นเท่านั้น ปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน อะไรต่ออะไร เมื่อเสียชีวิตไป รูปพวกนี้ก้ไม่มีอยู่จริง เช่น ถ้าไม่มีมนุษย์เกิดมาบนโลกนี้ ความสวย ความหอม ความเค็ม ความหวาน ก็ไม่มีอยู่จริง
เมื่อผู้ปฏิบัติมีความเพียร เฝ้าดูรูป-นาม เห็นความเกิดดับ เห็นความไม่เที่ยงของรูป-นามอยู่เสมอ จนแยกรูปและนามออกจากกันได้อย่างชัดเจน ก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 2
เรื่อง ทันตแพทย์สม สุจีรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น