วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง) เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้าง เดิมชื่อ วัดบางหว้าใหญ่ คู่กับ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงนิมนต์ พระอาจารย์สี ที่หนีทหารพม่าไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ให้รวบรวมพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราช แล้วกลับขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหว้าใหญ่ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช (สี) ให้ชุมนุมพระสงฆ์เพื่อทำสังคายนาพระไตรปิฏกกันที่นี่จนแล้วเสร็จด้วย
สำหรับระฆังใบโตที่เสียงดีใบ นั้น ทรงขอไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วทรงสร้างหอระฆังพร้อมกับระฆังอีก 5 ลูก พระราชทานไว้แทน ด้วยเหตุนี้จึงเปลี่ยนชื่อเรียกวัดบางหว้าใหญ่มาเป็น วัดระฆัง จนกระทั่งในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า วัดคัณฑิการาม (”คัณฑิ” แปลว่า “ระฆัง“) แต่ชาวบ้านไม่นิยม จึงยังคงเรียกว่าวัดระฆังกันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (สี) แห่งวัดระฆังก็ทรงเป็นประธานในการทำสังคายนาจนเสร็จเรียบร้อยอีกเช่นกัน
พระสงฆ์อีกหนึ่งรูปที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวัดระฆังไปแล้ว นั่นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะและเจ้าอาวาสวัดระฆังเป็นเวลาหลายสิบปี ท่านรอบรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยและธรรมปฏิบัติ มีความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม นอกจากนั้นยังเปี่ยมไปด้วยจิตเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยาก มีอัธยาศัย มักน้อย สันโดษ จึงเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงยำเกรง โดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเลื่อมใสศรัทธาในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอย่างมาก
ป้ายกำกับ:
พาเที่ยววัด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น