การทำบุญ |
บุญ ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน และ ตามความหมายในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับพระธรรมปิฎก หมายถึง "คุณงามความดี หรือความดี หรือ การกระทำดี ตามหลักธรรมคำสอนในศาสนา
บุญ ในทาง พุทธศาสนานั้น ได้จัดเรื่องแห่งการทำบุญ หรือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ซึ่งในทางพุทธศาสนาเรียกว่า "บุญกิริยา วัตถุ" แปลว่า หลักแห่งการบำเพ็ญบุญ หรือที่ตั้งแห่งการทำบุญ บุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ อย่าง แต่ถ้าขยายความให้กว้างออกไป บุญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ
ในทางพระพุทธศาสนา การทำบุญมีด้วยกัน 10 วิธี เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 10” หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ
- ให้ทาน หรือ ทานมัย อัน หมายถึง การให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น เพราะ การให้ทานเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และความคับแคบในจิตใจให้น้อยลง ทำให้เราไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ อีกทั้งสิ่งที่เราบริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่นก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นประโยชน์ต่อผู้รับ และสังคมโดยส่วนรวม การให้ทานนี้อยู่ที่ไหนๆ ก็ทำได้ และไม่จำเป็นต้องเงิน เช่น การแบ่งของกินให้กับแม่บ้านที่ทำงาน หรือยาม เป็นต้น ข้อสำคัญ สิ่งที่บริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่น ควรเป็นสิ่งยังใช้ได้ มิใช่เป็นการกำจัดของเหลือใช้ที่หมดอายุ หมดคุณภาพให้ผู้อื่น ผลการให้ทานดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความปีติอิ่มเอิบใจ
- รักษาศีล หรือ สีลมัย คำว่า ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนา ที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา เช่น ศีล 5 ศีล 8 หรือ อาจจะหมายถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาศีล เป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการลด ละ เลิกความชั่ว มุ่งให้กระทำความดี อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิให้ตกต่ำลง เช่น ไม่ไปเป็นชู้เป็นกิ๊กกับใครที่ทำงาน ทำให้ครอบครัวเขาไม่แตกแยก เป็นแม่ค้าไม่โกหกหลอกขายของไม่ดีแก่ลูกค้า เป็น พ่อบ้านไม่กินเหล้าเมายา ทำให้ลูกเมียมีความสุข เพื่อนบ้านก็สุข เพราะไม่ต้องทนฟังเสียงรบกวน จากการทะเลาะวิวาทกัน เหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาศีล และเป็นหนึ่งในการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผลบุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็น สุขุมด้วย
- เจริญภาวนา หรือภาวนามัย เป็นการทำบุญอีกรูปแบบ ที่มุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อนี้หลายคนอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา แต่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกำลัง ดังนั้น อาจจะทำง่ายๆ ด้วยวิธีการสวดมนต์เป็นคาถาสั้นๆ บูชาพระที่เราเคารพบูชาก่อนนอนทุกคืน เช่น คาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร คาถาหลวงปู่ทวด เป็นต้น การสวดมนต์เป็นประจำ อย่างน้อยก็เป็นการน้อมนำจิตใจของเรา ไปสู่สิ่งที่เป็นมงคลในชีวิต เป็นการเตือนสติให้เรายึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติชอบ ตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ และผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติ
- การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า การประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน จะถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยประพฤติต่อผู้ใหญ่ และการที่ ผู้ใหญ่แสดงตอบด้วยความเมตตา หรือการอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพต่อความคิด ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของบุคคล หรือสังคมอื่นที่แตกต่างจากเรานั้น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเรา ช่วยให้สังคมทุกระดับเกิดความเข้าใจต่อกัน และช่วยให้ชาติบ้านเมืองเกิดความสงบสุข จึงถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดความเมตตาต่อกัน
- การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ หรือไวยาวัจจมัย พูดง่ายๆ ว่า เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้าง ในการทำกิจกรรมความดีต่างๆ เช่น ช่วยพ่อแม่ค้าขายไม่นิ่งดูดาย ช่วยสอดส่องดูแลบ้านให้เพื่อนบ้าน ยามที่เขาต้องไปธุระต่างจังหวัด ช่วยงานเพื่อนที่ทำงานให้แล้วเสร็จทันเวลา ให้กำลังใจแก่เพื่อนที่มีความทุกข์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบุญอีกแบบหนึ่ง และผลบุญในข้อนี้ก็จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นด้วย
- การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย ไม่ขี้เหนียว หรืองกบุญเพราะอยากได้บุญใหญ่ไว้คนเดียว เช่น จะทำบุญสร้างระฆัง ก็ให้คนอื่นได้ร่วมสร้างด้วย ไม่คิดจะทำเพียงคนเดียว เพราะคิดว่าทำบุญระฆัง จะได้กุศลกลายเป็นคนเด่นคนดัง เลยอยากดังเดี่ยว ไม่อยากให้ใครมาร่วมด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำงาน ร่วม แสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ถือเป็นการทำบุญในข้อนี้ด้วย ผลบุญดังกล่าว จะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้าง และปราศจากอคติต่างๆ เพราะพร้อมเปิดใจรับผู้อื่น
- การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อ ใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น เช่น เพื่อนเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานมา ก็ร่วมอนุโมทนา ที่เขามีโอกาสได้ไปทำบุญ ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ไม่อิจฉาเขา แม้เราไม่ได้ไป ก็อย่าไปคิดอกุศลว่า เขาได้ไปเพราะชู้รักออกเงินให้ เป็นต้น การ ไม่คิดในแง่ร้าย จะทำให้เรามีจิตใจไม่เศร้าหมอง แต่จะแช่มชื่นอยู่เสมอ เพราะได้ยินดีกับกุศลผลบุญต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แม้จะมิได้ทำเองโดยตรงก็ตาม
- การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การฟังธรรม จะทำให้เราได้ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต ซึ่ง การฟังธรรมนี้ ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัด หรือจากพระท่านโดยตรง แต่อาจจะฟังจากเทป ซีดี หรือเป็นการฟังจากผู้รู้ต่างๆ และธรรมในที่นี้ ก็มิได้หมายถึงแต่เฉพาะหลักธรรม ในทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องจริง เรื่องดีๆ ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น
- การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย คือ การให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้ แนะหลักธรรมที่ดีที่เราได้ยินได้ฟังมา และปฏิบัติได้ผลแก่เพื่อนๆ เป็นต้น ผลบุญในข้อนี้ นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้บอกกล่าวได้รับการยกย่องสรรเสริญอีกด้วย
- การทำความเห็นให้ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ หรือ จะพูดง่ายๆ ว่า ให้คิดและประพฤติตนให้ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรมก็ได้ ซึ่งข้อนี้แม้จะเป็นข้อสุดท้ายแต่ก็สำคัญยิ่ง เพราะไม่ว่าจะทำบุญใดทั้ง 9 ข้อ ที่กล่าวมา หากมิได้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม การทำบุญนั้นก็ไม่บริสุทธิ์ และให้ผลได้ไม่เต็มที่ ดังจะได้กล่าวถึงเกณฑ์การวัดบุญต่อไป
- ผู้รับ จะต้องเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมความดี แต่ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพระสงฆ์ หรือนักบวช จะเป็นคนทั่วไปก็ได้ ถ้าผู้รับดี ผู้ทำก็ได้บุญมาก หากผู้รับไม่ดี ก็อาจจะทำให้เราได้บุญน้อย เพราะเขาอาจอาศัยผลบุญของเรา ไปทำชั่วได้ เช่น ให้เงินช่วยเหลือเพื่อนๆ กลับเอาไปปล่อยกู้ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นต้น
- วัตถุสิ่งของที่ให้ต้องบริสุทธิ์หรือได้มาโดยสุจริต เป็นของที่เหมาะและมีประโยชน์ต่อผู้รับ เช่น ให้เสื้อผ้าของเล่นแก่เด็กกำพร้า เป็นต้น ของที่ให้ดีผู้ทำก็ได้บุญมาก หากได้มาโดยทุจริต แม้จะเอาไปทำบุญก็ได้บุญน้อย
- ผู้ให้ ต้องมีศีลมีธรรมและมีเจตนาที่เป็นบุญกุศลในการทำ จึงจะได้บุญมาก นอกจากนี้ เจตนาหรือจิตใจในขณะทำบุญ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญกล่าวคือ ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ หากผู้ให้มีความตั้งใจดี ตั้งใจทำ เมื่อ ทำแล้วก็เบิกบานใจ คิดถึงบุญกุศลที่ได้ทำเมื่อใด จิตใจก็ผ่องใสเมื่อนั้น เช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ทำได้บุญมาก ถ้าไม่รู้สึกเช่นนั้น บุญก็ลดน้อยถอยลงตามเจตนา
ในการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บางคนก็ทำถูก เพราะเข้าใจในการทำบุญและทำด้วยความมั่นใจเพราะเห็นว่าเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความดี หรือเป็นกรรมดี จึงทำ แม้จะสิ้นเปลือง เหน็ดเหนื่อยลำบาก และใช้เวลานานเพียงไร ก็ยินดีทำ เพราะเห็นชัดว่าการทำบุญนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นเป็นอันมาก
แต่บางคนไม่เข้าใจเรื่องบุญ หรือหลักการทำบุญ หรือเข้าใจเพียงบางส่วน เพราะไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ เมื่อผู้อื่นบอกให้ทราบหรือบอกให้ทำอย่างใดก็ทำอย่างนั้น หรือเห็นเขาทำก็ทำบ้าง แต่ไม่เข้าใจในเรื่องของบุญ หรือเข้าใจเพียงบางส่วน อาจจะผิดหรือถูกก็ไม่รู้แน่
บางคนก็ทำด้วยความงมงายและถูกหลอกลวง เพราะไม่รู้หลักการทำบุญที่ถูกต้อง พุทธศาสนิกชน ส่วนใหญ่จะเข้าใจเรื่องการให้ทานมากกว่าการทำบุญอย่างอื่น แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ถูกหลอกลวง หรือให้ทานอย่างผิดหลักและได้ผลน้อย
ฉะนั้น จึงควรศึกษาให้เข้าใจถูกต้อง ในเรื่องการทำบุญในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักการทำบุญ ๑๐ อย่าง ที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ เพราะถ้าเข้าใจหลักการทำบุญ ๑๐ อย่างนี้แล้วก็จะได้ทำบุญหรือสร้างความดีอย่างถูกต้อง ไม่งมงาย และได้ผลมาก ไม่เสียทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นับถือพระพุทธศาสนา
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น