ความไม่เที่ยง

ความไม่เที่ยง
สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานคือ การกำหนดสติเฝ้าดูการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาเข้าใจถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดมรรคญาณ บรรลุโสดาบัน และบรรลุอรหันต์ต่อไป

เครื่องมือที่มีส่วนสำคัญในการช่วยกำหนด คือสติสัมปชัญญะที่เข้าไประลึกและรู้สึกถึงประสาทสัมผัสทางทวารทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งสำคัญที่สุดระหว่างการกำหนดสติก็คือ ให้เพ่งพิจารณาไปที่ความไม่เที่ยง ทั้งขณะเริ่มเกิด ขณะตั้งอยู่ และเมื่อดับไปเปรียบเทียบเป็นรูปธรรมให้เข้าใจได้ง่ายๆ เช่น ใบไม้ที่กำลังร่วงจากต้น โดนแรงลมพัดสั่นไหวไปมา ในขณะนั้นจะเกิดความไม่เที่ยงเกิดอนิจจัง ทุกขัง ให้ใบไม้ดำรงสภาวะนั้นไว้ไม่ได้ ในที่สุดก็จะหลุดจากขั่ว เกิดการตกลงมา ขณะที่ปลิวตกลงบนพื้นให้ตั้งสติกำหนดที่ความพลิ้วไหว อาการการเคลื่อนที่ของใบไม้ทุกชั่วขณะ ซึ่งจะพบว่าไม่มีความเที่ยงเลย จนเมื่อใบไม้ตกถึงพื้นก็เป็นการดับของปรากฏการณ์ตก

การปฏิบัติสมถกรรมฐานสามารถเปลี่ยนมากำหนดพิจารณาแบบวิปัสสนากรรมฐานได้ เพียงแต่ขอให้มีกำลังสติที่ไวขึ้นและใช้ขณิกสมาธิ(สมาธิชั่วขณะ) ไม่ใช่สมาธิแนบแน่นในอารมณ์เดียว เช่นการสวดมนต์สามารถสวดได้ทั้งแบบสมถะและแบบวิปัสสนา การสวดแบบสมถะคือ ท่องไปเรื่อยๆ อย่างมีสมาธิแนบแน่น แต่การสวดแบบวิปัสสนาจะเป็นการสวดอย่างมีสติ และใช้เพียงสมาธิชั่วขณะเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงและการเกิดดับของแต่ละคำ เช่น สุปฏิปันโน ภควโต ต้องแยกการเกิดดับของแต่ละพยางค์ สุ-ปะ-ฏิ-ปัน-โน-ภะ-คะ-วะ-โต เช่นเดียวกับผู้ที่ฟังเพลงแบบวิปัสสนาเมื่อฟังเพลงจบเขาจะบอกได้ทันทีว่าเพลงนั้นมีการเกิดดับของตัวโน้ตกี่ตัว และมีเสียงเครื่องดนตรีชนิดใดเกิดขึ้นแล้วดับไปบ้าง เขาจะสามารถรับพลังของตัวโน้ตและเสียงดนตรีเข้าสู่ใจ ตรงกันข้ามกับคนที่ฟังเพลงแบบสมถะ จะได้แต่ความดื่มด่ำเข้าสู่ใจ แต่ไม่เกิดพลังปัญญา

หัวใจสำคัญของการกำหนดความไม่เที่ยงอีกอย่างก็คือ ต้องกำหนดให้ครบรอบของการเกิดดับ การกำหนดเพียงขณะเกิดหรือขณะดับ จะถือเป็นเพียงสมถะกรรมฐาน เช่น ขณะเดินจงกรม ซ้าย-ย่าง-หนอ ขวา-ย่าง-หนอ แต่กำหนดเฉพาะตอนยกเท้าซ้ายไปข้างหน้า และไปกำหนดอีกทีตอนจบคือเท้าซ้ายแตะพื้นก็คือจบการย่างหนึ่งก้าว แต่ไม่เคยสังเกตอาการก้าวซึ่งสำคัญมาก และอาการก้าวในแต่ละชั่วขณะจิตจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งมุมเท้า ความเร็วเท้า ความรู้สึกที่มีต่อเท้า ซึ่งจุดนั้นสำคัญเท่าๆ กับอาการเกิดตอนยกเท้าจากพื้น หรืออาการดับตอนเท้าแตะพื้น เช่นเดียวกับการกำหนดลมหายใจสามารถนำมาฝึกวิปัสสนาได้ เพียงแต่ขอให้กำหนดที่อาการการเคลื่อนของลมหายใจขณะกำลังเข้า-ออก ว่ามีความไม่เที่ยงอยู่เสมอ ทั้งความเร็วลม ปริมาณลม ทิศทางลม จะเห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทันตแพทย์สม รุจีรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น