พระนันทาเถรี photo: larnbuddhism.com |
ประวัติพระนันทาเถรี เอตทัคคะผู้ยินดีในฌาน
เจ้าหญิงในศากยวงศ์ที่ชื่อนันทา
นั้นมีปรากฏอยู่หลายองค์ เรียกว่า
“นันทา”
บ้าง “รูปนันทา” บ้าง สุนทรีนันทา”
บ้าง “อภิรูปนันทา” บ้าง
แต่เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว จะเหลือเพียง ๒ องค์ คือ เจ้าหญิงรูปนันทา
และเจ้าหญิงอภิรูปนันทา
เจ้าหญิงทั้งสองนั้น เจ้าหญิงรูปนันทา เป็นพระธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์
และพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระขนิษฐภคินีของเจ้าชายนันทะ ส่วนเจ้าหญิงอภิรูปนันทา
นั้น อรรถกถากล่าวว่า เป็นพระธิดาของพระเจ้าเขมกศากยะ
มีคู่หมั้นชื่อ เจ้าชายสัจจกุมาร
แต่พระคู่หมั้นก็ได้สิ้นพระชนม์ลงในวันหมั้นนั่นเอง
เรื่องราวของ
เจ้าหญิงรูปนันทา และ เจ้าหญิงอภิรูปนันทานี้ ตามอรรถกถาได้กล่าวไว้คล้ายคลึงกันมาก
ตั้งแต่ เป็นเจ้าหญิงในศากยวงศ์เหมือนกัน ชื่อคล้ายกัน
เป็นผู้มีความงามอย่างยิ่งเหมือนกัน เป็นผู้หลงในความงามของตนเองเหมือนกัน
ออกบวชเป็นภิกษุณีโดยไม่ศรัทธาเหมือนกัน
และพระบรมศาสดาได้ทรงใช้อุบายในการแสดงธรรมในลักษณะอย่างเดียวกัน
จนกระทั่งพระนางทั้งสองบรรลุพระอรหันต์
ประวัติที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเป็นประวัติของ เจ้าหญิงรูปนันทา
ซึ่งต่อมาได้ออกบวชเป็นพระภิกษุณี และได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้ยินดีในฌาน
ทั้งนี้ก็โดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป
ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
ดังได้สดับมา
พระนันทาเถรีนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี
กรุงหังสวดี ต่อมา ขณะเมื่อกำลังฟังธรรมกถาอยู่
เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้ยินดียิ่งในฌาน
จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพร้อมด้วยพระสงฆ์
ได้ถวายมหาทานแด่พระองค์ด้วยมือของตน
แล้วตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้างในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นในอนาคต
ครั้งนั้นพระสุคตเจ้าทรงพยากรณ์ว่า นางจักได้ตำแหน่งที่ปรารถนาดีแล้วนั้น
ในกัปที่หนึ่งแสนแต่กัปนี้พระศาสดาพระนามว่าโคดม มีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช
จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก นางจักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักเป็นสาวิกาของพระองค์ มีนามชื่อว่านันทา
เมื่อได้ฟังพระพุทธพจน์นั้นแล้วนางก็มีใจยินดีมีจิตประกอบด้วยเมตตา
บำรุงพระพิชิตมาร ด้วยปัจจัยทั้งหลายตลอดชีวิต
ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ดีนั้นและด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อละร่างกายมนุษย์แล้ว
ก็ได้เวียนว่ายอยู่ในภพภูมิเทวดาและมนุษย์ ตลอดแสนกัป
ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในพุทธุปบาทกาลนี้
ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมหาปชาบดีโคตมี พระมเหสีในพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์
มีพระเชษฐาชื่อเจ้าชายนันทะ ทั้งสองพระองค์มีฐานะเป็นน้องต่างพระมารดากับเจ้าชายสิทธัตถะ
พระประยูรญาติได้เฉลิมพระนามพระนางว่า รูปนันทา ต่อมาเมื่อทรงเติบใหญ่ขึ้น
ก็ทรงพระสิริโฉมเป็นอย่างยิ่ง จนได้ชื่อว่า ชนบทกัลยาณี
ศากยวงศ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นวงศ์ที่มีความบริสุทธิ์แห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง
จะไม่ยอมอภิเษกกับราชวงศ์อื่นที่ต่ำกว่าเป็นอันขาด และเมื่อเจ้าชายนันทะโตพอที่จะอภิเษกได้แล้ว
เมื่อในขณะนั้นไม่มีราชธิดาของราชวงศ์ที่เสมอกันแล้วจึงให้ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงรูปนันทา
ผู้เป็นพระกนิษฐภคินีเพื่อรักษาพระวงศ์ให้บริสุทธิ์
วันที่กำหนดให้เป็นวันวิวาหมงคลของเจ้าชายนันทะ และเจ้าหญิงรูปนันทา นั้น
เป็นวันที่ ๓ นับแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์
เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและหมู่พระญาติ
ในวันวิวาหมงคลนั้น
พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปในงาน เมื่อไปถึงจึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาต
จากนั้นเมื่อจะเสด็จกลับ ได้ทรงประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร
ตรัสอวยพรแล้วเสด็จลุกจากอาสนะ โดยหาได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารคืนมาไม่.
นันทะพุทธอนุชาออกบวช
ฝ่ายนันทกุมารนั้น
ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงมิอาจทูลว่า
“
ขอพระองค์รับบาตรไปเถิด พระเจ้าข้า ”
แต่คิดว่า “
พระศาสดา
คงจักทรงรับบาตรคืนที่หัวบันได ”
แต่เมื่อถึงที่นั้นพระศาสดาก็มิได้ทรงรับ นันทกุมารจึงคิดว่า
“
คงจักทรงรับที่ริมเชิงบันได ”
แม้ถึงที่นั้นแล้ว พระศาสดา ก็ไม่ทรงรับ นันทกุมารก็คิดว่า
“
จักทรงรับที่พระลานหลวง ”
แม้ถึงที่นั้นแล้วพระศาสดาก็ไม่ทรงรับ.
พระกุมารปรารถนาจะเสด็จกลับ แต่จำเสด็จไปด้วยความไม่เต็มพระทัย
เพราะด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงไม่กล้าทูลว่า
“
ขอพระองค์ทรงรับบาตรเถิด ”
ทรงเดินก็นึกเอาว่า “
พระองค์จักทรงรับในที่นี้ พระองค์จักทรงรับในที่นี้
”
ในขณะนั้นพวกนางข้าหลวงของเจ้าหญิงรูปนันทาเห็นอาการนั้นแล้ว จึงบอกแก่เจ้าหญิงว่า
“
พระแม่เจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมารเสด็จไปแล้ว
คงจักพรากนันทกุมารจากพระแม่เจ้า ”
ฝ่ายพระนางรูปนันทาเมื่อได้ยินดังนั้น
ทั้งที่ยังทรงเกล้าพระเกศาค้างอยู่ ก็รีบเสด็จไปที่พระบัญชร ทูลกับพระกุมารนั้นว่า
“
ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์พึงด่วนเสด็จกลับ
”
คำของนางนั้น
ประหนึ่งตกไปขวางตั้งอยู่ในหทัยของนันทกุมาร
แม้พระศาสดา
ก็ยังไม่ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารนั้นเลย ทรงนำนันทกุมารนั้นไปสู่วิหารแล้วตรัสว่า
“
นันทะ
เธออยากบวชไหม ? ”
นันทกุมารนั้น
ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงไม่กล้าทูลว่า
“
จักไม่บวช
”จึงทูลรับว่า
“
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จักบวชพระเจ้าข้า
”พระศาสดารับสั่งว่า
“
ภิกษุทั้งหลาย
ถ้ากระนั้น เธอทั้งหลายจงให้นันทะบวชเถิด
”
ต่อมาพระนันทเถระก็ได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุเป็นพระอรหันต์
ภายหลังพระผู้มีพระภาคได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านได้เป็น
เอตทัคคะผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์
พระนางรูปนันทาออกทรงผนวช
ต่อมา
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนมหาราชเสด็จปรินิพพานแล้ว และเมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีและพระนางพิมพาบวชแล้ว
พระนางก็คิดว่า พระเชษฐภาดาของเราทรงละความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าผู้อัครบุคคลในโลก
แม้ราหุลกุมารผู้เป็นพระโอรสของพระองค์ก็บวช เจ้าชายนันทราชภัสดาของเราก็ดี พระมหาปชาบดีโคตมีพระมารดาก็ดี
พระนางพิมพาพระภคินีก็ดี ก็บวชกันหมดแล้ว บัดนี้ตัวเราจักทำอะไรอยู่ในวังเล่า
เราก็ควรจักบวชด้วยเหมือนกัน เธอจึงไปยังสำนักพระมหาปชาบดีโคตมี และทรงผนวช
พระนางไม่เข้าเฝ้าพระศาสดาเพราะเกรงถูกตำหนิ
แต่การบวชของพระนางเป็นบวชด้วยความรักพวกพระญาติ ไม่ได้บวชด้วยศรัทธาฉะนั้น
ถึงบวชแล้วก็ยังหลงใหลด้วยความเจริญแห่งรูป จึงไม่ไปเฝ้าพระศาสดา
ด้วยคิดว่าพระศาสดาทรงตำหนิติเตียนรูป ทรงแสดงโทษในรูปโดยอเนกปริยาย
เมื่อพระศาสดาเห็นรูปของเราซึ่งน่าดู น่าเลื่อมใสอย่างนี้แล้ว จะพึงตรัสโทษในรูป
เมื่อถึงวาระที่จะต้องไปรับพระโอวาท
ก็สั่งภิกษุณีรูปอื่นไปแล้วให้นำพระโอวาทมาแสดงแก่พระนาง
พระนางรูปนันทาเถรีเข้าเฝ้าทรงสดับธรรม
ในสมัยนั้น
พวกชาวพระนครสาวัตถี ถวายทานแต่เช้าตรู่ สมาทานอุโบสถแล้วห่มผ้าสะอาด
มีมือถือของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น พอตกเวลาเย็น ก็ประชุมกันฟังธรรมในพระเชตวัน
แม้ภิกษุณีสงฆ์ผู้เกิดฉันทะในพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ก็ย่อมไปวิหารฟังธรรม
ชาวพระนครสาวัตถีเหล่านั้นครั้นฟังธรรมแล้ว เมื่อกลับเข้าไปสู่พระนคร
ก็กล่าวแต่คุณกถาของพระศาสดาเท่านั้นกันอยู่ทั่วไป.
พระนางรูปนันทา
ได้สดับคำพรรณนาคุณของพระตถาคตเหล่านั้นจากพวกภิกษุณีและพวกอุบาสิกา จึงทรงดำริว่า
"ชนทั้งหลาย ย่อมกล่าวชมเจ้าพี่ของเรานักหนาทีเดียว แม้ในวันหนึ่ง
พระองค์เมื่อจะตรัสโทษในรูปของเรา จะตรัสได้สักเท่าไร
?
ถ้ากระไร
เราพึงไปกับพวกภิกษุณี แต่จะไม่แสดงตนเลย เฝ้าพระตถาคตฟังธรรมแล้วค่อยกลับมา."
พระนางจึงตรัสบอกแก่พวกภิกษุณีว่า "วันนี้ ฉันจักไปสู่ที่ฟังธรรม."
พวกภิกษุณีมีใจยินดีว่า "นานนักหนา การที่พระนางรูปนันทาทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว
วันนี้พระศาสดา ทรงอาศัยพระนางรูปนันทานี้แล้ว จักทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันวิจิตร"
ดังนี้แล้วก็พาพระนางออกไป ตั้งแต่เวลาที่ออกไป
พระนางก็ทรงดำริว่าจะไม่แสดงพระองค์เลย
พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระนาง
พระศาสดาทรงดำริว่า "วันนี้ รูปนันทาจักมาที่บำรุงของเรา ธรรมเทศนาเช่นไรหนอแล
?
จักเป็นที่สบายของเธอ" ทรงทำความตกลงพระหฤทัยว่า "รูปนันทานั่น หนักในรูป
มีความเยื่อใยในอัตภาพอย่างรุนแรง การบรรเทาความเมาในรูปด้วยรูปนั่นแล
เป็นที่สบายของเธอ ดุจการบ่งหนามด้วยหนามฉะนั้น"
ในเวลาที่พระนางเข้าไปสู่วิหารจึงทรงนิรมิตหญิงมีรูปสวยพริ้งผู้หนึ่ง อายุราว ๑๖ปี
นุ่งผ้าแดง ประดับแล้วด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง ถือพัด
ยืนถวายงานพัดอยู่ในที่ใกล้พระองค์ด้วยกำลังพระฤทธิ์
ก็แล
พระศาสดาและพระนางรูปนันทาเท่านั้น ทรงเห็นรูปหญิงนั้น
พระนางเสด็จเข้าไปวิหารพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย ทรงยืนข้างหลังพวกภิกษุณี
ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นั่งในระหว่างพวกภิกษุณี
ทรงแลดูพระศาสดาตั้งแต่พระบาท ทรงเห็นพระสรีระของพระศาสดาวิจิตรแล้วด้วยพระลักษณะ
รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ อันพระรัศมีวาหนึ่งแวดล้อมแล้ว
ทรงแลดูพระพักตร์อันมีสิริดุจพระจันทร์เพ็ญ ได้ทรงเห็นรูปหญิงยืนอยู่ในที่ใกล้แล้ว
พระนางทรงแลดูหญิงนั้นแล้ว ทรงแลดูอัตภาพของตน รู้สึกว่าตนเหมือนนางกา
ซึ่งอยู่ข้างหน้านางพระยาหงส์ทอง
ก็นับแต่เวลาที่พระนางทรงเห็นรูปอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์นั้น
พระเนตรทั้งสองของพระนางก็วิงเวียน
พระนางมีจิตอันสิริโฉมแห่งสรีรประเทศทั้งหมดดึงดูดไปแล้วว่า "โอ ผมของหญิงนี้ก็งาม โอ
หน้าผากก็งาม" ดังนี้ ได้มีสิเนหาในรูปนั้นอย่างรุนแรง
พระศาสดาทรงทราบความยินดีอย่างสุดซึ้งในรูปนั้นของพระนาง พอเมื่อจะทรงแสดงธรรม
จึงทรงแสดงรูปนั้นให้ล่วงภาวะของผู้มีอายุ ๑๖ ปี มีอายุราว ๒๐ ปี
พระนางรูปนันทาได้ทอดพระเนตรมีจิตเบื่อหน่ายหน่อยหนึ่งว่า
"รูปนี้ไม่เหมือนรูปก่อนหนอ."
พระศาสดาทรงแสดงความแปรเปลี่ยนของหญิงนั้นโดยลำดับเทียว คือ
เพศหญิงคลอดบุตรครั้งเดียว เพศหญิงกลางคน เพศหญิงแก่
เพศหญิงแก่คร่ำคร่าแล้วเพราะชรา
แม้พระนางก็ทรงเบื่อหน่ายรูปนั้น ในเวลาที่ทรุดโทรมเพราะชราโดยลำดับเหมือนกัน ว่า
"โอ รูปนี้ หายไปแล้วๆ"
ครั้นทรงเห็นรูปนั้นมีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง มีซี่โครงขึ้นดุจกลอน
มีไม้เท้ายันข้างหน้า งกงันอยู่ ก็ทรงเบื่อหน่ายเหลือเกิน
ลำดับนั้น
พระศาสดาทรงแสดงรูปหญิงนั้นให้เป็นรูปอันพยาธิครอบงำ ในขณะนั้นเอง
หญิงนั้นทิ้งไม้เท้าและพัดใบตาล ร้องเสียงขรม ล้มลงที่ภาคพื้น
จมลงในอุจจาระและปัสสาวะของตน กลิ้งเกลือกไปมา
พระนางรูปนันทา
ทรงเห็นหญิงนั้นแล้ว ทรงเบื่อหน่ายเต็มที
พระศาสดา
ทรงแสดงมรณะของหญิงนั้นแล้ว
หญิงนั้นกลายเป็นศพพองขึ้นในขณะนั้นเอง
สายแห่งหนองและหมู่หนอนไหลออกจากทวารทั้ง ๙
ฝูงสัตว์มีกาเป็นต้นรุมแย่งกันกินแล้ว
พระนางรูปนันทา
ทรงพิจารณาซากศพนั้นแล้ว ทรงเห็นอัตภาพโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงว่า
"หญิงนี้ถึงความแก่ ถึงความเจ็บ ถึงความตาย ในที่นี้เอง
ความแก่ ความเจ็บและความตาย จักมาถึงแก่อัตภาพแม้นี้อย่างนั้นเหมือนกัน."
และเพราะความที่อัตภาพเป็นสภาพอันพระนางทรงเห็นแล้ว
โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงนั่นเอง อัตภาพนั้น จึงเป็นอันทรงเห็นแล้วโดยความเป็นทุกข์
โดยความเป็นอนัตตาทีเดียว
ลำดับนั้น
ภพทั้งสามปรากฏแก่พระนางดุจถูกไฟเผาลนแล้ว และดุจซากศพอันเขาผูกไว้ที่พระศอ
จิตมุ่งตรงต่อกรรมฐานแล้ว
พระศาสดาทรงทราบว่า พระนางทรงคิดเห็นอัตภาพโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงแล้ว
จึงทรงพิจารณาดูว่า "พระนางจักสามารถทำที่พึ่งแก่ตนได้เองทีเดียวหรือไม่หนอแล
?"
ทรงเห็นว่า
"จักไม่อาจ
การที่พระนางได้ปัจจัยภายนอกเสียก่อน จึงจะเหมาะ" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม
ด้วยอำนาจธรรมเป็นที่สบายแห่งพระนาง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
"นันทา
เธอจงดูกายอันกรรมยกขึ้น อันอาดูร
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า
ไหลออกอยู่ข้างบน ไหลออก
อยู่ข้างล่าง
ที่พาลชนทั้งหลายปรารถนากันนัก;
สรีระของเธอนี้ ฉันใด
สรีระของหญิงนั่น ก็ฉันนั้น,
สรีระของหญิงนั่น ฉันใด สรีระของเธอนี้ ก็ฉันนั้น:
เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ อย่า
กลับมาสู่โลกนี้อีก
เธอคลี่คลายความพอใจในภพ
เสียแล้ว
จักเป็นบุคคลผู้สงบเที่ยวไป."
พระนางนันทาสำเร็จโสดาปัตติผล
ได้ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภพระนางนันทาภิกษุณี ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้
ด้วยประการฉะนี้แล พระนางนันทา ทรงส่งญาณไปตามกระแสเทศนา บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.
พระศาสดาทรงแสดงวิปัสสนา
ลำดับนั้น
พระศาสดาเพื่อจะตรัสสุญญตกรรมฐาน
เพื่อต้องการอบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลทั้งสามยิ่งขึ้นไปแก่พระนาง จึงตรัสว่า
"แน่ะนันทา
ในสรีระนี้ไม่มีสาระแม้มีประมาณน้อยเลย กายนี้มีเนื้อและเลือดฉาบทาไว้
เป็นที่อยู่ของชราเป็นต้น เป็นเพียงกองกระดูกเท่านั้น ดังนี้"
แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
"สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย
ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ
มานะ
และมักขะ."
ในกาลจบเทศนา พระนางรูปนันทาเถรีได้บรรลุพระอรหัตผล.พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว
ดังนี้แล.
ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้ยินดีในฌาน
ภายหลัง
พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก
ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระนันทเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า
ภิกษุณีทั้งหลายผู้ยินดีในฌาน
source: http://www.dharma-gateway.com/bhikunee/pra-nanta.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น