ตรึกครอง การพิจารณา โยนิโสมนสิการ 10 วิธี ของ พระราชวรมุนี
เพื่อให้ปรโตโฆสะ นำไปสู่โยนิโสมนสิการ ทำให้คนรู้จักคิด หรือคิดเองเป็นอันจุดเริ่มของการศึกษา และจำเป็นสำหรับการที่จะมีการศึกษา จึงจะเสนอวิธีคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้สัก 10 วิธี
คนทั่วไปซึ่งได้สั่งสมความเคยชินให้จิตมีนิสัยแห่งการคิดในแนวทางของการสนองตัณหาหรือคิดโดยมีความไม่ชอบใจเป็นพื้นฐานมาเป็นเวลายาวนาน วิธีโยนิโสมนสิการแบบต่างๆนี่จะเริ่มเป็นเครื่องฝึกในการสร้างนิสัยใหม่ให้แก่จิต การสร้างนิสัยใหม่นี้ อาจจะต้องการใช้เวลานานบ้าง เพราะนิสัยเดิมเป็นสิ่งที่ได้สั่งสมมานานคนละเป็นสิบๆปี แต่เมื่อได้ฝึกขึ้นบ้างแล้วก็ได้ผลคุ้มค่า เพราะเป็นการที่ทำให้เกิดปัญญา ทำให้แก้ปัญหาดับความทุกข์ได้แม้จะยังทำไม่ได้สมบูรณ์ ก็ยังพอเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสมดุล และได้มีทางออกในยามที่ถูกความคิดตามแนวนิสัยเดิมชักนำไปสู่ความอับจน ความทุกข์ และปัญหาบีบคั้นต่างๆ
วิธีโยนิโสมนสิการแบบต่างๆถึงจะมีมากอย่าง ก็สรุปลงได้เป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือ
1. โยนิโสมนสิการประเภทพัฒนาปัญญาโดยตรง มุ่งให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริงตรงตามสภาวะแท้ๆ เน้นที่การ ขจัดอวิชชา เป็นเครื่องนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิอาจเรียกว่า โยนิโสมนสิการระดับสัจธรรม
2. โยนิโสมนสิการประเภทสร้างเสริมคุณภาพจิต มุ่งปลุกเร้าให้เกิดคุณธรรมหรือกุศลธรรมต่างๆ เน้นที่การสกัดหรือข่มตัณหา เป็นเครื่องนำไปสู่โลกีย์สัมมาทิฏฐิ อาจเรียกว่า โยนิโสมนสิการระดับจริยธรรม
1. วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุผล คือ เมื่อเห็นผลหรือเห็นปัญหาก็สืบหาเหตุ ได้เหตุแล้วก็สืบหาเหตุก่อนหน้านั้นจนเห็นความสัมพันธ์ของเหตุและผลโดยสมบูรณ์ หรือเมื่อเห็นปัญหาและเหตุของปัญหาก็พิจารณาสืบไปว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นบ้าง ดังนี้เป็นต้น
2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ คือ มุ่งพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ให้ตรงตามสภาพเป็นจริงจึงต้องรู้รายละเอียดว่า เรื่องนั้น ๆ มีองค์ประกอบย่อยอะไรบ้าง ประกอบกันขึ้นอย่างไร เช่น แยกแยะร่างกายออกเป็นระบบต่าง ๆ ว่ามีระบบหายใจ ระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบเนื้อเยื่อ เป็นต้น จนทำให้เราเข้าใจร่างกายมนุษย์ตามสภาพที่เป็นจริง
3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์หรือไตรลักษณ์ คือ การคิดแบบวิเคราะห์กระบวนการหรือความเป็นไปของชีวิต เช่น การวิเคราะห์ลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ได้แก่
ทุกข์ ความไม่อาจคงสภาพอยู่อย่างเดิมได้
อนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่คงที่
อนัตตา ความไม่เป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวตน
4. วิธีคิดแบบอริยสัจ/คิดแบบแก้ปัญหา คือ การคิดแบบสืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้ว หาวิธีการแก้ไขที่เหตุ เป็นการคิดที่มีหลักการสำคัญโดยเริ่มต้นจากปัญหา ทำความเข้าใจกับปัญหาให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข ในเวลาเดียวกันก็กำหนด
เป้าหมายให้แน่ชัด พร้อมกันนั้นจึงคิดวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหาและดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ วิธีคิดแบบอริยสัจประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค เป็นวิธีคิดที่ใช้แก้ปัญหาซึ่งตรงตามกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์
5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ คือ การคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นการคิดแบบหาความ สัมพันธ์ระหว่างหลักการกับความมุ่งหมาย วิธีใช้ เมื่อวิเคราะห์จนรู้สภาพจริงของปัญหาหรือธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ แล้วก็พิจารณาว่า เรามีจุดมุ่งหมายอย่างไร หลักการใดจะให้สัมฤทธิผลตามจุดมุ่งหมายนั้น วิธีคิดเช่นนี้นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ
6. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก คือ การคิดที่มองตามความเป็นจริง เน้นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้น ๆ เป็นอยู่ทุกแง่มุม เพื่อให้รู้คุณโทษ ข้อดีข้อเสียทุกด้านแล้วจึงคิดหาทางออกของปัญหาว่ามีอยู่จริงหรือเป็นไปได้อย่างไร เลือกทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาในกรณีนั้น ๆ แล้วจึงนำไปปฏิบัติ วิธีคิดดังกล่าวจึงเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมากใช้ได้กับเรื่องทั่วไป จึงเป็นการคิดมองตามความเป็นจริงเพื่อหาทางออก คือ การปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องที่สุด
7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม คือ การคิดที่สกัดหรือบรรเทาตัณหาของมนุษย์ ซึ่งจะใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอย ปัจจัย 4 และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีหลักการคิดที่สำคัญ คือ ในเวลาที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาด้วย “สติ” และ “ปัญญา” แยกแยะให้ได้ว่า สิ่งนั้น ๆ มี “คุณค่าแท้” หรือ “คุณค่าเทียม” ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เลือกเสพคุณค่าที่แท้จริง
8. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม ใช้หลักการที่ว่า
“บุคคลเมื่อประสบอารมณ์หรือรับรู้สิ่งใดก็ตาม แม้เป็นของอย่างเดียวกัน แต่การมองเห็นและนึกคิดอาจปรุงแต่งไปคนละอย่างตามโครงสร้างของจิตใจ”
จากหลักการดังกล่าวจึงทำให้เกิดการมองเห็นและความนึกคิด 2 ลักษณะ คือ ในทางที่ดีงามและประโยชน์ เรียกว่า “กุศล” และในทางที่ไม่ดีงามเป็นโทษ เรียกว่า “อกุศล” ดังนั้นการเริ่มต้นและชักนำความคิดไปสู่ความเป็นกุศลย่อมเป็นสิ่งเริ่มต้นของกระบวนการคิดที่ดีงาม วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรมหรือเร้ากุศล เป็นวิธีที่เปิดกว้างที่สุด เพราะสามารถนำไปปรับประยุกต์เป็นแบบต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นตามความเหมาะสม
9. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน คือ การคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจของปัญญาโดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์ วิธีคิดแบบนี้เป็นการมองอีกด้านหนึ่งของการคิดแบบอื่น ๆ หรือคลุมวิธีคิดที่กล่าวมาทั้งหมดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีคิดแบบนี้ คือ “ความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์” นั่นคือการไม่อาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วหรือฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถือความเป็นปัจจุบันโดยกำหนดที่ “สัมมาสติ” เป็นสำคัญ
10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท คำว่า “วิภัชชวาท” ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรงแต่เป็นวิธีพูดเป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด เพราะสิ่งที่พูดล้วนมาจากความคิดทั้งสิ้น คำว่า “วิภัชชวาท” ถือเป็นคำสำคัญคำหนึ่งที่ใช้แสดงระบบความคิดที่เป็นแบบของพระพุทธศาสนา
source: http://www.oknation.net/blog/Duplex/2008/03/05/entry-1
ขยายความ โยนิโสมนสิการ 10 วิธี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น