โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)
พระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นมาในโลก เป็นศาสดาเอกด้วยการตรัสรู้ชอบเอง ไม่มีครูอาจารย์สอน แล้วก็ทรงนำเอาธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นมาสอนแก่มวลมนุษย์ทั้งปวงด้วย ธรรมที่สอนนั้น สอนมีเหตุมีผล มิใช่ไม่มีเหตุมีผล เป็นของอัศจรรย์สมควรที่ผู้รู้ทั้งหลายจะเข้าใจได้ แลไม่ได้บังคับให้ผู้ใดมานับถือ แต่เมื่อผู้ฟังทั้งหลายได้มาฟัง ตรึกตรองตามเหตุผลแล้วเห็นดีเห็นชอบ มีเหตุมีผลแล้วเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้ามานับถือด้วยตนเอง ผิดจากศาสนาอื่นแลลัทธิอื่น บางศาสนาบางลัทธิซึ่งเขาห้ามไม่ให้วิจารณ์ศาสนาของเขา ส่วนพระพุทธศาสนาท้าให้วิจารณ์ได้เต็มที่เลย พิจารณาเห็นเหตุเห็นผลแน่ชัดด้วยตนเองแล้ว จึงนับถือด้วยความเป็นอิสระ
คนในสมัยนี้พากันสนใจในธรรมปฏิบัติกันมาก ไม่ว่าเด็ก คนหนุ่ม คนแก่ ไปที่ไหนก็พูดถึงเรื่องภาวนากันเป็นส่วนมาก จะเป็นเพราะมีพระคณาจารย์มาก และกอปรที่โลกเจริญมากแต่ค้นหาแก่นธรรมไม่ได้ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายมาก ส่วนพระภิกษุแลสามเณรซึ่งบวชในพระพุทธศาสนาแท้ ๆ กลับสนใจกันน้อยไป
ถึงอย่างไรก็ดี ผู้ปฏิบัติตามครูอาจารย์ แลปฏิบัติตามแบบตำราก็ดี เท่าที่ได้สังเกตดูหลายด้านหลายทางแล้ว มักยึดเอาหลักปฏิบัติยังไม่ได้ ปฏิบัติไปตามศรัทธาอย่างนั้นแหละ น่าชมมากที่มีศรัทธาเป็นหลัก ผู้เขียนขอแนะนำหลักปฏิบัติ เพื่อยึดเอาไว้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
พระพุทธศาสนาสอนให้ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ผู้ใดทำกรรมดีย่อมได้รับผลของกรรมดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลของกรรมชั่ว คนอื่นจะรับแทนไม่ได้ ๑
สอนให้ ทำทาน การสละสิ่งของของตนให้แก่สัตว์ อื่นแลบุคคลอื่น ด้วยจิตเมตตาปรารถนาความสุขแก่บุคคลอื่น ถึงวัตถุที่ให้นั้นจะเป็นของน้อยนิดเดียวก็ดี หากมากด้วยจิตเมตตาของก็จะเป็นของมากเอง ๑
สอนให้ รักษาศีล ด้วยจิตวิรัติเจตนางดเว้นตัวเดียว โดยมีหิริ-โอตตัปปะเป็นมูลฐาน จะเป็นศีล ๕-๘-๑๐-๒๒๗ ก็ตาม ถ้ามีจิตวิรัติเจตนางดเว้นตัวเดียว โดยมีหิริ-โอตตัปปะเป็นมูลฐานแล้ว เป็นอันถึงที่สุดของการรักษาศีลได้ทั้งนั้น ๑
สมาธิ สอนให้เห็นโทษของอารมณ์ที่เกิดมาอายตนะ ๖ ซึ่งมันแส่ส่ายไปยังโลกธรรมทั้งแปด เป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วย่อมสละปล่อยวาง แล้วย้อนเข้ามาอยู่ที่จิตแห่งเดียว ๑
ปัญญา สอนให้ค้นคว้าสิ่งทั้งหมดที่มาปรากฏอยู่ที่จิต ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีให้เห็นเป็นแต่เกิดจากปัจจัย เมื่อปัจจัยในสิ่งนั้น ๆ ดับไปแล้ว สิ่งเหล่านั้น ๆ ก็ดับไปหมด จะเหลืออยู่แต่ธรรมสิ่งเดียว ๑
ผู้มาพิจารณาเห็นชัดแจ้งด้วยใจของตนเองอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอันนี้ไม่มีการเสื่อม และไม่หลงงมงายในสิ่งที่ไร้สาระ เข้าถึงธรรมอันแท้จริง จะเรียกผู้นั้นว่าอริยบุคคลหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะปฏิบัติธรรมเข้าถึงที่สุด คือ ใจ แล้วสิ้นสงสัยในธรรมทั้งปวง
ผู้เขียนหวังว่าหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มนี้ จะเป็นประโยชน์แก่นักปฏิบัติไม่มากก็น้อย เมื่อปฏิบัติตามดังได้อธิบายมาแล้ว
http://www.thewayofdhamma.org/page2/moradok211.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น