ขันธ์ 5 |
ขันธ์ 5 ได้แก่ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งมีร่างกายและจิตใจ ร่างกายนั้นประกอบด้วยธาตุ 4 หรือรูปขันธ์ ส่วนจิตใจนั้นเรียกว่า นาม หรือนามขันธ์ ทำหน้าที่อยู่ 4 อย่าง
- รับรู้สิ่งต่างๆ (วิญญาณ) โดยอาศัยสิ่งมากระทบประสาทสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รู้ทางตาด้วยการเห็นภาพ หรือรูปโดยอาศัยจักขุวิญญาณ รู้ทางหูด้วยการได้ยินเสียงโดยอาศัยโสตวิญญาณ รู้ทางจมูกด้วยการได้กลิ่นโดยอาศัยฆานวิญญาณ รู้ทางลิ้นด้วยการได้รสโดยอาศัยชิวหาวิญญาณ รู้ทางกายด้วยการสัมผัสเย็น ร้อน อ่น แข็งโดยอาศัยกายวิญญาณ รู้ทางใจด้วยการรู้สึกนึกคิดโดยอาศัยมโนวิญญาณ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเพียงอวัยวะของร่างกายหรือธาตุ 4 ไม่สามารถรับรู้สิ่งใดๆ ได้ต้องอาศัยวิญญาณซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจิตเข้าไปกำกับ จึงเกิดการรับรู้ขึ้นมาได้ - จำสิ่งต่างๆ (สัญญา) เมื่อมีความรู้ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสตามข้อ 1 หรือจิตรู้สึกนึกคิดต่อสิ่งใด ก็จะจดจำเรื่องเหล่านั้น ซึ่งบางเรื่องก็จำได้ บางเรื่องก็จำไม่ได้
- รู้สึกต่อสิ่งต่างๆ (เวทนา) โดยมีความรู้สึกต่อเรื่องที่เข้ามาทางประสาทสัมผัส เช่น เห็นสิ่งใดก็รู้สึกต่อสิ่งนั้น หรือเข้ามาทางความจำ หรือเข้ามาทางความคิด หากเรื่องที่เข้ามานั้นตรงกับจริตนิสัยที่ชอบ ก็จะรู้สึกยินดี พอใจเป็นสุข เรียกว่า สุขเวทนา หากเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ ก็รู้สึกเป็นทุกข์ เรียกว่า ทุกเวทนา หากเป็นเรื่องที่ไม่ชอบไม่ชังก็รู้สึกเฉยๆ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา
- คิดเรื่องต่างๆ (สังขาร) ความคิดมักจะต่อเนื่องมาจากความรู้สึกและความจำ เช่นเมื่อมีใครมาว่าเราในทางไม่ดีหากเขาว่าเป็นภาษาต่างชาติที่เราไม่รู้ความหมาย เราก็จะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าเรารู้ (จำได้) ว่าคำนั้นเป็นคำด่า เราจะรู้สึกโกรธขึ้นมาทันที (ทุกเวทนา) ครั้นเมื่อเขาพูดจบลงแล้วก็เดินจากไป ความรู้สึกไม่พอใจเขาก็น่าจะจบลงไปด้วย เพราะคำพูดก็ดี ผู้พูดก็ดี ได้จบไปแล้ว แต่ความรู้สึกไม่พอใจของผู้ฟังหาได้จบลงไม่ ทั้งนี้เพราะความคิด หรือสังขารเข้ามารับช่วงความรู้สึกปรุงแต่งจิตให้โกรธ และนำความคิดต่างๆ เข้ามาร่วมปรุงแต่งด้วย ทำให้ความรู้สึกในเรื่องดังกล่าวไม่จบลงง่ายๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น