การพักผ่อนที่แท้จริง - พุทธทาสภิกขุ

การพักผ่อนที่แท้จริง มิได้อยู่ที่การเสวยสุขเวทนา แต่อยู่ที่การไม่เสวยเวทนาใดๆ
source: vcharkarn.com/varticle/1087(ถอดเสียงคำบรรยายธรรม ของท่านพุทธทาสภิกขุ"การพักผ่อน")
          
หลักเกณฑ์ที่จะช่วยให้เข้าใจธรรมะได้ง่ายขึ้น
วันนี้เราจะได้พูดกันถึงเรื่องการพักผ่อน บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับธรรมะหรือพระพุทธศาสนาก็ได้ แต่ขอให้สนใจฟัง แม้แต่เรื่องการพักผ่อนถ้าเข้าใจถึงที่สุด ก็จะเข้าใจถึงเรื่องนิพพาน ไม่มีอะไรที่จะเทียบเท่ากับการพักผ่อนมากเท่ากับนิพพาน
ในขั้นแรกนี่อยากจะให้เข้าใจหลักเกณฑ์อะไรบางอย่างที่จะช่วยให้เข้าใจธรรมะได้ง่ายขึ้น หลักเกณฑ์ที่จะกล่าวนี้ก็คือเรื่องที่เราเคยพูดกันอยู่เป็นประจำ ว่าเรื่องที่มีอยู่ในโลกนี้มันลึกซึ้งกว่ากันเป็นชั้นๆ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ชั้น คือเป็นเรื่องทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ เป็น 3 ชั้น ความจริงในบาลีจะมีพูดเพียง 2 ชั้น คือเรื่องกายกับเรื่องจิต แต่ใช้คำว่าเจตสิก คือเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจิต ก็เลยมี 2 เรื่อง เรื่องกายิกะ กับเจตะสิกะ

คือเรื่องทางกายหรือเรื่องทางจิตแต่นี่ก็ยังรู้สึกว่ายังเข้าใจยาก สู้เข้าใจอย่าง 3 ชั้นขั้นตอนไม่ได้ มันมองเห็นได้ง่ายกว่ากัน นี่ขอให้เข้าใจ กำหนดไว้สำหรับเป็นหลักเกณฑ์ศึกษา หรือเพื่อเข้าใจอะไรให้มันครบถ้วน เรื่องทางกายมันก็เกี่ยวกับร่างกาย เรื่องทางจิตก็เกี่ยวกับจิต แต่เรื่องทางวิญญาณนั้นขอยืมคำนี้มาใช้เพราะตัวหนังสือมันอำนวยให้ คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับสติปัญญา ไอ้สติปัญญาน่ะเป็นเรื่องของจิต แต่มันก็แยกออกมาจากกันได้ นี่เป็นเหตุให้เรื่องการพักผ่อนเป็นเรื่องทางกาย เป็นเรื่องทางจิต เป็นเรื่องทางวิญญาณ คือถ้าเราจะเอาแค่เพียงสองเรื่องคือเรื่อง กายกับจิต มันจะอธิบายยาก คือต้องอธิบายจิตออกเป็นสองเรื่องอีกนั่นแหละ มันมีสามบริพท

ทีนี้เอาเรื่องที่เขาใช้พูดกันในการศึกษายุคปัจจุบันนี้ ที่ใช้ภาษาสากล คือภาษาฝรั่ง มันก็แบ่งได้เป็นสามอย่างนี้เหมือนกัน คือเรื่องทางกาย หรือที่เรียกว่า Physical เรื่องทางจิตที่เรียกว่า Psychological บางทีก็ใช้คำว่า Mental แล้วมันยังมีอีกว่า Spiritual ก็เป็นเรื่องลึกยิ่งกว่าอีก คือจะเป็นเรื่องของสติปัญญา หรือเรื่องของวิญญาณในทางธรรมดา ไอ้คำว่า Spiritual นี่กลายเป็นคำธรรมดาไปเสียแล้ว ในหนังสือพิมพ์ธรรมดาๆของฝรั่งมันก็มีคำนี้อยู่ทั่วไป เพื่อให้แยกออกไปจากเรื่องทางกายกับเรื่องทางจิต ที่จะให้เข้าใจได้ง่ายสำหรับพวกเราชาวไทยที่ศึกษาพระพุทธศาสนา มันก็จะมีหลักว่าความเจ็บไข้นี่มันก็แบ่งได้เป็นสามชั้น ถ้าเจ็บไข้ทางร่างกาย ทางเนื้อทางหนัง ก็ไปที่โรงพยาบาลที่เขาจัดการกับทางร่างกาย แต่ถ้าเป็นเรื่องทางจิต ก็ไปโรงพยาบาลโรคจิต

แต่ถ้าเกิดเป็นเรื่องทางวิญญาณก็ต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า ในโลกนี้มันก็มีแต่เรื่องโรงพยาบาลทางกายกับโรงพยาบาลทางจิต ส่วนเรื่องทางวิญญาณนั้นไม่มี โรงพยาบาล ต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้าที่สอนให้แก้ไขในเรื่องทางสติปัญญา ระงับโลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็เรื่องไม่มีตัวตน มันจึงจะหายโรคอย่างสิ้นเชิง เข้าใจหลักนี้ไว้ ก็จะเข้าใจเรื่องอื่นๆได้ง่าย

โดยเฉพาะเรื่องการพักผ่อนที่กำลังจะพูด ในการพักผ่อนทางร่างกาย เพื่อหยุดความเหน็ดเหนื่อยทางร่างกาย การพักผ่อนทางจิต เพื่อหยุดความเหน็ดเหนื่อยทางจิต ส่วนพักผ่อนทางวิญญาณหรือทาง Spiritual นั้น ไกลไปกว่านั้นอีก คือพักผ่อนในเรื่องของความโง่ เราเหนื่อยทางกายเราก็นอน พักมันก็หาย เราเหนื่อยทางจิตก็หยุดคิด ทำสมาธิ แล้วมันก็หาย แต่ถ้ามันเหนื่อยทางวิญญาณ คือการยึดมั่นว่าตัวตนว่าของตนน่ะ มันไม่พอ มันต้องไปถึงความรู้ที่มันไม่มีตัวตนไม่มีการยึดมั่นถือมั่นว่าอะไรเป็นตัวตนเป็นของตนน่ะ มันจึงพอ มันอยู่ไกลกันถึงขนาดนั้น แต่ว่าเรื่องนี้ไม่ค่อยมีพูดกัน แม้ในการศึกษาของโลกที่ว่าสูงสุด ก็จะไม่พูดถึงการพักผ่อนทางวิญญาณ หรือจะพูดเรื่องทางวิญญาณบ้างก็ยังต่ำกว่านี้มาก

เราก็ยังคุยหรืออวดได้ว่าพระพุทธศาสนายังไปได้ไกลกว่า คือมีเรื่องทางวิญญาณในการพักผ่อน ให้คนที่ร่างกายเขาสบาย จิตก็ปกติ แต่ยังไม่มีการพักผ่อนทางวิญญาณก็มี คือมันยังยึดมั่นถือมั่นในตัวตนในของตน มีของหนักกดทับอยู่บนวิญญาณ แม้ว่าคนนั้นมีร่างกายสบายดี มีจิตใจปกติ เฉลียวฉลาดเป็นนักปราชญ์ด้วยซ้ำ แต่มันก็ยังมีการกดทับทางวิญญาณ ยึดมั่นถือมั่น เป็นของหนักอยู่เหนือวิญญาณนั่นแหละ

ที่เคยพูดมาบ่อยๆแล้วว่า ไปยึดอะไรเข้าสิ่งนั้นก็เป็นของหนักทันที ยึดวัตถุก็หนักทางวัตถุ ยึดทางจิตก็หนักทางจิต ยึดทางวิญญาณก็หนักทางวิญญาณ แล้วคนทั่วไปก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ มันก็เลยยังมีการยึดทางวิญญาณ คำว่ายึดในที่นี้หมายถึง จับเอาไว้ ยกขึ้นไว้ ชูขึ้นไว้ ไม่ได้วางอยู่กับพื้น เอาขึ้นมาถือไว้เมื่อไรมันก็หนักเมื่อนั้น ทางกายถืออะไรไว้ก็หนักทางกาย จิตถืออะไรไว้ก็หนักทางจิต วิญญาณหรือสติปัญญาไปยึดอะไรไว้ก็หนักทางวิญญาณ นี่ดูให้ดี ยึดถือทางวิญญาณหรือเจ็บป่วยทางวิญญาณ หนักทางวิญญาณนั้นล่ะเข้าใจยาก เราจึงไม่ได้รับการพักผ่อนในทางวิญญาณ แต่พักผ่อนทางกายเรายังทำได้ ไม่ได้พักผ่อนทางจิตเราก็ยังทำได้ถ้าจิตสงบเป็นสมาธิสักหน่อย

แต่การยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของตนมันยังมีอยู่ มันเลยไม่เป็นการพักผ่อนทางวิญญาณ นี่เราควรจะเข้าใจเรื่องการพักผ่อนนี้ให้ถึงที่สุด ให้มองให้เห็นคุณค่าของการพักผ่อนจนเห็นชัดทีเดียวว่ามันจำเป็นที่สุด ถ้าไม่มีการพักผ่อนมันก็คือตาย ทางกายก็ต้องได้รับการพักผ่อน เหนื่อยก็นอนเสีย ธรรมชาติมันก็จัดไว้ให้แล้ว กลางวันทำงาน กลางคืนนอนหลับ ชดเชยกันไป มันถึงรอดตายอยู่ได้ ลองมีแต่ทำงานอย่างเดียวไม่มีพักผ่อนมันก็คือตาย การพักผ่อนนั่นน่ะก็เหมือนกับการสร้างกำลังชดเชยเข้าไว้ กำลังที่มันเสียไปในการทำงาน พอพักผ่อนมันก็กลับมาอีก เพื่อจะได้ใช้อีกในการทำงานต่อไป

ถ้าไม่มีการพักผ่อน มันก็ไม่เกิดกำลังชนิดนี้ มันก็ไม่มีอะไรจะใช้เป็นกำลัง มันก็คือตาย มันก็เหมือนกับชาร์จแบตเตอรี่ ต้องชาร์จเรื่อยๆ ให้ใช้ได้ทุกวัน ถ้าใช้หมดแล้วไม่ได้ชาร์จก็ไม่มีใช้ ร่างกายนี้ก็มีการพักผ่อนนั่นแหละเหมือนกับการชาร์จให้มีแรงขึ้นมาใหม่เก็บไว้ใช้ต่อไป พอถึงเวลาใช้ก็ใช้ พอถึงเวลาพักผ่อนคือชาร์จก็ทำ มันก็มีแรงสำหรับใช้ต่อไป เรื่องทางจิตก็เหมือนกัน ถ้ามันเหนื่อยก็ต้องหยุด ต้องพักผ่อน โดยเฉพาะการทำสมาธินั่นแหละเป็นการพักผ่อนทางจิตที่ดี แต่ธรรมชาติมันก็จัดไว้ให้ด้วยเหมือนกันนั่นแหละ คือคนเราไม่ได้คิดนึกตลอดเวลา ถ้าคิดนึกตลอดเวลาคือคนบ้า เวลาที่ไม่คิดไม่นึกตลอดเวลามันก็มี แต่บางคนก็อาจจะไม่พอมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ถ้าพักผ่อนให้พอมันก็มีกำลังจิตที่จะทำอะไรได้ ที่ลึกกว่านั้นคือ เรื่องทางวิญญาณ คือความโง่หรือความฉลาด มันมีความโง่คือไปยึดถือตัวตน

เช่นยึดถือขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวตน เนี่ยมันหนัก มันถือของหนัก นั่นไม่เป็นการพักผ่อน มันจะต้อง ลด เลิก อย่างน้อยก็ลด อย่างมากก็เลิก เลิกความยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นการพักผ่อน นี่เป็นเรื่องของนิพพาน

ไม่ใช่การพักผ่อน มันก็แค่เปลี่ยนงาน
ถ้าเข้าใจเรื่องการพักผ่อนในทางวิญญาณก็คือเข้าใจเรื่องพระนิพพานนั่นเอง ไม่มีอะไรจะเป็นการพักผ่อนทางจิตทางวิญญาณนอกจากนิพพาน นี่การพักผ่อนมันเป็นอย่างนี้ ขอให้พยายามเข้าใจ คือเป็นเรื่องของมนุษย์ทั้งหมด เรามีร่างกายก็มีการพักผ่อนทางกาย เรามีจิตก็มีการพักผ่อนทางจิต เรามีเรื่องของวิญญาณคือสติปัญญา ก็มีเรื่องการพักผ่อนทางวิวิญญาณ ทาง Physical ทาง Psychological ทาง Spiritual ใช้คำสากลที่เขาใช้กันทั่วโลก เขาก็มีคำพูด 3 อย่างนี้

แต่กลัวว่าการพักผ่อนเขาไม่รู้ อ่านหนังสือในโลกที่เป็นเรื่องการพักผ่อน อย่างมากก็เป็นเรื่องทางจิต ทางกายน่ะรู้จักกันดีมาก แล้วก็นิยมกันมาก พักผ่อนทางจิตนี่รู้กันบ้างแต่ทำกันได้น้อย ส่วนการพักผ่อนทางวิญญาณน่ะไม่มีใครรู้และไม่มีใครนึกเอาใจใส่ ที่เราจะหยุดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนในเรื่องของตน ไม่มีใครรู้และไม่มีใครทำ นี่น่ะมันยังขาดอยู่มาก ฉะนั้นชาวพุทธจะมีอะไรอวดฝรั่งบ้างน่ะมันก็เรื่องอย่างนี้ คือเรื่องอะไรๆที่เป็นเรื่องทางวิญญาณ แม้แต่การพักผ่อน ก็มีการพักผ่อนทางวิญญาณ ทีนี้เขาไม่ได้พูดกันเพราะไม่รู้เรื่องหรือไม่คิดว่ามี แต่ชาวพุทธเรามันมี

ทีนี้มาดูเท่าที่เขารู้จักกันอยู่ เขาก็รู้จัก เลิกงานก็ไปพักผ่อน ไปดูหนังดูละคร เขาก็คิดว่าเป็นการพักผ่อน นั่นน่ะเข้าใจผิด เข้าใจว่าเรื่องกีฬาเป็นการพักผ่อน ความจริงน่ะไม่ใช่การพักผ่อน มันก็แค่เปลี่ยนงาน ไปดูหนังดูละครมันก็ยังเหน็ดเหนื่อยเรื่องดูเรื่องคิดเรื่องนึก อารมณ์ปรุงแต่งไปตามหนังตามละคร ไม่อย่างนั้นมันก็ร้องไห้ไม่ได้ หัวเราะไม่ได้ ถ้าหนังกับละครมันไม่ปรุงแต่งทางจิตใจ ไอ้คนไปดูมันก็ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ แสดงว่ามันปรุงอยู่เรื่อย จะพักผ่อนมันต้องหยุดสิ่งเหล่านั้น แต่เขาคงไม่รู้จัก มันก็เลยเพียงแต่ว่าเปลี่ยนความเครียด ไปเครียดโดยไม่รู้สึก โดยเป็นความเครียดทางวิญญาณที่เขาไม่รู้สึก เขาไม่รู้จัก และเขาไม่ได้พูดถึงการพักผ่อนทางนี้

จิตนั้นถ้ามันยังเสวยสุขเวทนาอยู่มันก็ไม่ได้พักผ่อน จิตยังจะทำหน้าที่การงานเสวยสุขเวทนาคือการพักผ่อน ต่อเมื่อว่างไม่เสวยเวทนาอะไรจึงจะเป็นการพักผ่อนที่แท้จริง นี่มันคือการเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนการงาน เปลี่ยนรูปแบบการพักผ่อน โดยคิดว่าเป็นการพักผ่อน ยังเข้าใจว่าการเสวยสุขเวทนาเป็นการพักผ่อน นี่ถึงแม้จะทางจิต อยู่ในสมาธิก็เสวยเวทนาในสมาธิ เป็นความสุข มันก็เป็นการทำงานละเอียดๆขึ้นไป ยังไม่ใช่การพักผ่อนคือวางทิ้งโดยสิ้นเชิง ถ้าพักผ่อนโดยสิ้นเชิงก็ต้องว่าง โดยไม่เสวยเวทนา ถ้าเป็นเรื่องของสมาธิมันก็ต้องเลยขึ้นไปจนถึงพวกเนวะสัญญานาสัญญายะตะนะ เป็นอรูปฌาณขั้นสุดท้ายหรือเป็นสัญญาเวทะยิตะนิโรธ 

นั่นคือหยุด หยุดเวทนา หยุดสัญญา หยุดความคิดนึกทั้งปวง นั่นจึงจะเป็นการพักผ่อน แต่แล้วมันก็ไม่ถึงที่สุด เพราะพอออกมาจากสมาธิ จากฌาณแล้ว มันก็ไปยึดถือตัวตนของตนอีก บางทีก็ไปยึดถือเอาความสุขที่เกิดจากสมาธิชั้นสูงของตนอีกมันก็ไม่ใช่พักผ่อน มันต้องว่างทั้งปวงที่เป็นการนิพพานน่ะจึงจะเป็นการพักผ่อน ดังนั้นอย่าไปละเมอเขลาๆตามที่เขาพูดกันหลังจากทำงานหนักว่าไปเล่นกีฬา ไปดูหนังดูละครเป็นการพักผ่อน พักผ่อนชนิดนั้นไม่ใช่การพักผ่อนที่แท้จริง มันแค่เปลี่ยนความเครียด หรือว่าเราจะไปชายทะเลที่เวิ้งว้างนี่ก็ไม่เรียกว่าเป็นการพักผ่อน มันยังได้ความยินดีจากชายทะเล

ทีนี้มาดูกันถึงเรื่องของพวกเรา บวชเนี่ย จะเป็นการพักผ่อนซักกี่มากน้อย ถ้าบวชจริงซึ่งหมายถึงไปเรียนจริง ไปปฏิบัติจริง ได้ผลจริง นั่นน่ะเป็นการพักผ่อนมากกว่าที่จะเป็นฆราวาส การบวชนี่ก็จะกลายเป็นการพักผ่อนในความหมายที่กว้างขวาง แล้วก็ว่างจากการรบกวนที่ทำให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นมากกว่าในฆราวาส เพราะในเพศฆราวาสนั้นมีอะไรมาทับถมทุกๆด้าน ทุกๆอย่าง มีคนเขียนโคลงไว้บทหนึ่งว่าไอ้เพศฆราวาสนั้นน่ะเป็นเหมือนกับซ่องที่สะสมซ่องสุมความกดดันความทะเยอทะยานอยาก

แต่ชีวิตบรรพชิตนี้ไม่มีสิ่งเหล่านั้นเลย ว่างโปร่งเหมือนกับท้องฟ้า ข้อความนี้เป็นบาลี แต่เขามาแต่งเป็นโคลงเป็นกลอนในภาษาอังกฤษ ดูสิถ้าบรรพชาจริงก็จะเกิดความว่างจากการรบกวน ก็เลยเรียกว่าเป็นการพักผ่อน เพราะมีความว่าง ได้ว่างจากสิ่งที่รบกวน ในการบวชถ้าเป็นเรื่องทางระเบียบทางวินัยมันก็พักผ่อนมากเหมือนกัน แต่ถ้าทางบวชทำไปได้ไกลมันก็มีสมาธิ อยู่สมาธิเป็นประจำก็พักผ่อนมากขึ้นไปอีก แล้วยิ่งถ้าไปถึงสมาธิในขั้นอรูปฌาณหรือปัญญาเวทะยิกะนิโรธมันก็ยิ่งพักผ่อนที่สุดในอย่างที่มีอารมณ์อยู่ แต่ถ้าการบวชนั้นเป็นการบรรลุนิพพาน ก็จะเป็นการพักผ่อนที่สุด

เพราะฉะนั้นพูดว่าการบวชเป็นการพักผ่อนก็ถูกต้องที่สุด แต่มันก็มีอยู่เป็นชั้นๆของการบวช บวชสักว่าบวช อย่างทำตามวินัย ทางกายทางวาจา ทำสมาธิอยู่ด้วยสมาธิก็เป็นการพักผ่อนทางจิต ถ้าเป็นการบรรลุมรรคผลก้เป็นการพักผ่อนทางวิญญาสูงสุดไม่มีอะไรมารบกวน ความเครียดทางวัตถุตามร่างกายอยู่ระดับต่ำสุด ความเครียดทางจิตก็อยู่เหนือขึ้นไป ความเครียดทางวิญญาณนั่นน่ะสูงสุด ซึ่งมันละเอียดๆสุขุมเข้าใจได้ยาก แต่มันก็มีอยู่

ฉะนั้นเราจึงพูดว่าการบวชเป็นการพักผ่อน มากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับจะประพฤติปฏิบัติอะไรบ้าง เพียงไหน ถ้าทำได้ถึงที่สุดก็เป็นการพักผ่อนถึงที่สุด แต่เรื่องอย่างนี้ก็ต้องเข้าใจว่าฆราวาสก็ทำได้ตามสติกำลัง แต่มันไม่มากคือมันไม่สะดวกหรือง่ายเท่ากับการบวช ถ้าบวชไม่ได้ก็ทำเท่าที่ทำได้ในเพศฆราวาสเพื่อการพักผ่อนที่ถูกต้อง คือพอสมควร มิฉะนั้นมันจะเป็นทุกข์ เป็นบ้า หรือมันจะตาย ตามหลักธรรมะก็ไม่ได้มีว่าทุกคนจะต้องบวช เพราะคนบวชไม่ได้ก็มี แต่แม้บวชไม่ได้จะอยู่เป็นฆราวาสก็ยังเป็นทุกข์ การดับทุกข์จึงเป็นหน้าที่แม้แต่ของพวกฆราวาส ถึงแม้จะไม่สะดวก จะอึดอัดขัดข้อง ก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้

ถ้าบวชมันสะดวกเพราะชีวิตแบบบวชมันสะดวก ถ้าบวชได้ก็บวช ถ้าไม่ได้ก็ต้องทำในเพศฆราวาสนั่นเอง แม้แต่เรื่องการพักผ่อนทางจิตทางวิญญาณ ก็ขอยืนยันว่าฆราวาสก็ทำได้ แต่ก็ต้องทำเท่าที่จะทำได้จะเป็นผลดีที่สุด พักผ่อนทางกายก็รู้อยู่แล้วไม่ต้องพูด พักผ่อนทางจิตฆราวาสก็จะสามารถทำสมาธิให้จิตเป็นสมาธิตามสมควรที่ฆราวาสจะอำนวยให้ได้ จะมากหรือน้อยก็ได้ แล้วแต่โอกาส แล้วแต่ความสามารถ ฆราวาสก็สามารถจะเลื่อนขึ้นไปถึงชั้นสติปัญญาในเพศฆราวาสนั่นแหละ คือพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแม้อยู่ที่บ้านที่เรือนในเพศฆราวาสนั้นแหละ อย่าบ้ากันไปทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้เห็นตามโอกาส ก็จะเกิด

นิพพาน ...ยอดสุดของการพักผ่อน
การพักผ่อนทางวิญญาณ แม้ในเพศฆราวาส คือเวลาที่เบาสบาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นพักๆ ที่จริงเรื่องนี้น่ะคนมันไม่มองเอง ธรรมชาติมันจัดมาไว้ดีแล้ว ฆราวาสก็มีเวลาที่จิตมันว่างจากการยึดมั่นถือมั่นเหมือนกันนั่นแหละ ไม่งั้นมันตายไปก็เป็นบ้ากันหมด เวลาที่จิตมันไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นมันก็มีอยู่ ซึ่งเคยบอกอยู่ เคยเตือนนักเตือนหนาว่าให้ดูให้ดี ว่าเวลาที่จิตมันว่างมันไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไรน่ะมันก็มี แต่มันน้อย เพราะมันมีได้ยากในเพศฆราวาส คนจึงไม่ได้สนใจ แต่มันก็มี เพราะความยึดมั่นถือมั่นนั้นน่ะมันเป็นสังขาร มันมีการเกิด มันมีการดับ เมื่อมีเหตุปัจจัยมันก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา เมื่อไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ความยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่มี มันดับ

แต่เวลาอย่างนี้น่ะมันน้อย เพราะฆราวาสมันมีเรื่องมากให้ไปยึดมั่นถือมั่น แต่อย่างน้อยเวลาพักผ่อนนอนหลับมันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นชั่วขณะ และเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปโดยการจับหรือการกระทำของเรา แต่ถ้าเราไปศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้มาก ก็จะสามารถทำได้มากขึ้นกว่าที่ธรรมชาติมันจะจัดให้ ขอร้องให้ทุกคนสนใจ พยายามสนใจ ให้รู้จักเอาเวลาซักแว่บหนึ่ง สักขณะหนึ่ง หาจิตที่มันว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร สบายที่สุด มันจะมีอยู่แต่คนไม่สังเกต เพราะมันโง่ แล้วคนมันก็ชอบให้สบายใจ ชอบให้เอร็ดอร่อย ชอบให้สนุกสนาน มันก็อยู่ไม่สุข เกิดอย่างนั้นอยู่เรื่อยไป ไม่ค่อยได้พบกับความว่าง

แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังบังเอิญมีแว่บหนึ่งที่มันว่าง มันสบายที่สุด แต่เราก็ไม่รู้เพราะเหตุอะไร ไม่สังเกตว่าเวลาที่ว่างที่สุด ที่จิตไม่ถูกปรุงแต่งนั่นน่ะมันสบาย เมื่อวานนี้ก็ได้พูดถึงอุปมาของชีวิต คงจะมีคนได้ฟัง พูดอีกทีก็ได้เผื่อไม่มีคนได้ฟัง ว่าชีวิตของคนธรรมดานั้นน่ะมันยากจากการปรุงแต่ง เพราะมันเคยชินความยึดมั่นถือมั่น การปรุงแต่งนั่นน่ะ มาตั้งแต่คลอดออกจากท้องแม่ มันก็เริ่มปรุงแต่ง เริ่มยึดมั่นถือมั่นเป็นทิศทาง เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต จนมันรู้จักอยาก รู้จักหวัง รู้จักต้องการ รู้จักยึดมั่นถือมั่นยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็มีอาการผูกหัวผูกคอดึงขึ้นไปข้างบน ด้วยความหวัง ด้วยความอยาก

ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่พอใจปรารถนา หวังจะได้ในอนาคตนั่นน่ะถูกดึงขึ้นไปข้างบน ส่วนทางข้างล่างมันก็มีความหวาดกลัว ความระแวงว่าจะสูญหาย จะเสียไป นี่ก็เหมือนถูกเชือกผูกขาดึงลงไปข้างล่างอีกทางหนึ่งด้วยความหวาดกลัวด้วยความระแวง ด้วยความกลัวที่มันจะไม่ได้ มันจะสูญหายไป มักจะเป็นเรื่องของอดีต ข้างบนก็ดึงจนตึง ข้างล่างก็ดึงสุดเหวี่ยง อยู่อย่างนี้ แล้วตรงกลางก็เอาไฟราคะลน กำหนัดทางอารมณ์ ไฟโทสะโกรธแค้นลนๆเข้าไป ตรงกลางก็ถูกลนด้วยสองไฟ ข้างบนก็ถูกลนด้วยไฟอยาก ข้างล่างนี่เอาไฟความโง่ ไฟโมหะดึงลงไป มีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว ความหวาดระแวงว่าจะสูญเสีย กลัวทุกอย่างแม้กระทั่งกลัวตาย ลองคำนวณดูสิว่ามันจะมีความพักผ่อนได้อย่างไรก็ในข้อเท็จจริงนี่มันถูกกิเลสดึงอยู่ในลักษณะอย่างที่ว่านี้ คิดดูว่ามันจริงหรือไม่จริง ถ้าเห็นว่าไม่จริงก็ขอให้กลับไปดูเสียใหม่

ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาเป็นปุถุชนมีกิเลสครบสมบูรณ์แบบก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแล ต่อให้เป็นพระเป็นบรรพชิตก็เป็นอย่างนี้แล อาการที่ถูกขึงพรืด เอาไฟลนตรงกลางมันก็มีอย่างนี้ ทั้งฆราวาสและบรรพชิตที่สักแต่ว่าบวช บวชตามวินัย ตามพิธีรีตองมันก็ยังละอะไรไม่ได้ เว้นแต่จะบวชจริงเรียนจริงค่อยๆพัฒนาขึ้นไปอย่างนี้มันจะค่อยทุเลาลงได้ มันมาจากความรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อมันมีมากเท่าไหร่ ความอยากมันก็ลด ความโง่มันก็ลด ความโกรธมันก็ลด มันก็เป็นการพักผ่อน นี่เราดูให้ดีว่าชีวิตมันมีลักษณะอย่างนี้ เรื่องละเอียดเป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นเรื่องสุขุม เป็นเรื่องมองเห็นยาก

แต่ถ้าพยายามจะมองมันก็มองเห็นได้ แล้วยิ่งทำสมาธิภาวนาทำอย่างนี้เสมอๆไปก็ยิ่งเห็นชัด เห็นความทุกข์ เห็นสังขารในชีวิต ถ้าเห็นความทุกข์ ความไม่เที่ยงแล้ว จิตมันก็น้อมไปพระนิพพาน ก็เป็นธรรมชาติอีกเหมือนกัน ถ้ามันโง่มันมองไม่เห็นมันก็จมอยู่ที่นี่ ขลุกอยู่ที่นี่ ถ้ามองเห็น มันก็อยากจะออกไป ออกไปจากวัฏสงสาร ไปสู่ที่ว่าง ที่ว่างคือพระนิพพาน ขอให้เห็นความจริงพื้นฐานนี้เสียก่อนเถิด เรื่องมันจะง่าย มันจะเป็นไปตามธรรมชาติ ขอให้ทุกคนรู้จักความเครียด ไม่พักผ่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วความว่าง ความพักผ่อนนั้นเป็นอย่างไร เห็นให้มันชัดแจ้งมันก็น้อมจิตไปนิพพาน

ขอให้สนใจว่าความจริงทุกอย่างมันแสดง มันมีอยู่แล้วในตัวชีวิต มันแสดงให้เห็นอยู่แต่คนมันก็ไม่เห็น เพราะว่าดูไม่เป็น เพราะฉะนั้นต้องฝึกฝนการดู คือการทำสมาธิเป็นต้นนั่นแหละ มันก็จะคิดถูกว่าต่อไปจะทำอย่างไร จะไปทางไหน พอเห็นชัดมันก็อยากจะออกจากกองทุกข์ มีจิตน้อมไปพระนิพพาน การปฏิบัติมันก็ง่ายนี่แหละ เพราะจิตมันน้อม มันเข้ารูปเข้ารอยไปหมด ถ้าจิตมันยังหลงมันก็ยังไม่พักผ่อน มันก็ไม่รู้ทางไปพระนิพพาน จมอยู่ในความทุกข์ทรมานไม่รู้จักเป็นสุข ความลับมันมีอยู่ที่คนเรามันชอบความสนุกสนานพอใจ ชอบความเอร็ดอร่อย เห็นว่านั่นน่ะดีที่สุดไม่มีอะไรดีกว่า พอเค้าพูดถึงนิพพานมันก็นึกว่าอย่างนี้ๆมากขึ้นไปอีก เอร็ดอร่อยสนุกสนานยิ่งขึ้นไปอีก ขอให้คิดแล้วกันว่าเวลาที่จิตมันเป็นบวก มันสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ร่าเริงน่ะ จิตมันเป็นบวก ถ้ามันไม่ได้อย่างนั้นก็เป็นลบ

คนเรามันชอบดีใจ ไม่ชอบเสียใจเป็นทุกข์ แต่มันควรจะสังเกตเห็นได้เองว่าดีใจนั้นน่ะมันไม่ใช่การพักผ่อน เรากำลังพูดถึงการพักผ่อน ดีใจๆๆเดี๋ยวมันก็ขาดใจตาย ดีใจมันเป็นการทำงานอย่างหนักด้านจิตด้านวิญญาณ เสียใจมันก็กินข้าวไม่ลง เพราะฉะนั้นทั้งสองอย่างจึงไม่ใช่การพักผ่อน ไม่ได้พักผ่อนทางกายจะตายทางกาย ไม่ได้พักผ่อนทางจิตเราจะตายทางจิต ไม่ได้พักผ่อนทางวิญญาณมันก็จะตายทางวิญญาณ การเหลือความว่างเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด ค่อยๆคิดไปแล้วก็จะเห็นความจริงเอง จิตที่ยังอยู่ภายใต้อวิชชา ไม่รู้จักว่าบวกกับลบเป็นของเลวร้าย มันก็ไม่รู้จักคิด มันก็ตาย วุ่นๆขึ้นมา ถ้ามันว่างจริงๆอย่างพระอรหันต์มันก็จะไม่วุ่น อยู่ในท้องแม่ จิตก็ว่าง คลอดออกมามันก็ยังว่าง แต่พอมันใช้สัมผัสลง เช่นรสทางลิ้นสัมผัสน้ำนมแม่ มันก็เริ่มอยาก เอร็ดอร่อย พอใจยิ่งๆขึ้นไป

พอสัมผัสมีก็มีมากขึ้น ราคะ โทสะ โมหะมันก็มีๆๆมากขึ้น มันก็โง่ๆๆ สุดเหวี่ยง ไม่รู้จักการพักผ่อน เพราะฉะนั้นนิพพานจึงเป็นยอดสุดของการพักผ่อน จิตเป็นสิ่งที่ทำได้อบรมได้ ฝึกได้ เกิดมาถ้าไม่ถึงจุดสูงสุดถึงสิ่งที่ควรจะได้ โง่แล้วฉลาดๆ มันจึงจะรู้จักแก้ความทุกข์คือพระนิพพาน จุดสุดท้ายก่อนตายเป็นจุดนี้ก็เป็นการดี อย่าฝากไว้ชาติหน้าเลย ถ้าพบการพักผ่อนที่จริงอย่างนี้เสียแล้วก็ไม่เสียชาติเกิด อย่างที่เรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาในพุทธศาสนา ขอให้ได้รับการพักผ่อนอย่างเหมาะสมเสียทีที่จะตาย ให้ได้รับอย่างที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่เสียทีที่เกิดเป็นมนุษย์และพบกับพระพุทธศาสนาทุกๆคนเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น