การปฏิบัติอายตนะวิปัสสนากัมมัฏฐาน

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEivgQRssxKcY7VdgNfdaWWLTqfNTOgeZvZt7imyy_9rDWN_Fute8kQDxOzXxPaCzlBsJFcWT3OTuaDWc8fuvaFY0oTp9M81_KOmT_0-Pj2ck6IlYPYxabXUeprdFJJs-JT2HR9cSPGspfs/s1600/the+buddha+teaching.jpg
The buddha teaching
กรรมฐาน คือการกระทำที่ฐานใดฐานหนึ่ง หรือหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง มาเป็นฐานเพื่อการกระทำ เพราะกรรมก็คือการกระทำ ฐานก็คือที่ตั้งของการกระทำ กรรมฐานที่นิยมนำมาใช้กัน ตามที่ตำราได้ยกตัวอย่างบันทึกไว้ก็มี ๔๐ อย่าง เช่น กสิน ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูป ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุวัฏฐาน ๑ บางอย่างก็ใช้ได้ในขั้นสัมมถะกัมมัฏฐาน บางอย่างสู่ขั้นวิปัสสนากัมมัฏฐาน

วิปัสสนา คือ การเพ่งเล็ง พิจารณาให้รู้ถึงความจริงของรูป นามที่เป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเข้าถึงหรือเข้าใจในไตรลักษณ์แล้วว่า สรรพสิ่งหรือรูปนาม มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลาย มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ได้ยาก และไม่ใช่ตัวตนที่แน่นอน ทำให้จิตจางคลายความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นของๆ ตน ซึ่งเป็นต้นเหตุของความอยากมีอยากเป็น อยากรักษาไว้ ซึ่งสำคัญผิดว่าเป็นของๆ ตน จึงเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ เมื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนแล้ว จิตก็เข้าถึงที่สุดแห่งความพ้นทุกข์ ความพ้นทุกข์จึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนา กัมมัฏฐาน จึงเป็นส่วนหนึ่งของหนทางไปสู่ความพ้นทุกข์

อายตนะวิปัสสนากัมมัฏฐาน  เป็นการนำอายตนะมาเป็นฐานที่ตั้งแห่งการเจริญวิปัสสนา
เจริญวิปัสสนา คือ ขบวนการทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นความจริงซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ความรู้ซึ่งทำให้เห็นความจริงซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ก็คือ วิปัสสนาญาณ

อายตนะภายนอก 6 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ อายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายในแบ่งเป็นข้างนอก 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีหน้าที่รับรู้ผัสสะ ข้างในหนึ่งคือใจ มีหน้าที่รับรู้อารมณ์ (เวทนา)

ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์วิปัสสนานั้น ได้แก่ ขันธ์5 อายตนะ12 ธาตุ18 อินทรีย์22 อริยสัจ4 ปฏิจจสมุปบาท12 ซึ่งผู้ปฎิบัติต้องค้นคว้าเอาเอง อย่างไรก็ดี ภูมิหรือหลักธรรมต่างๆ เหล่านี้ จัดไว้เป็น 2 ประการ คือ รูปและนาม

    รูป คือ ลักษณะที่เข้าไปเห็น
    นาม คือ ลักษณะที่เข้าไปรู้
    เช่น ตาเห็นรูป จิตรู้รูป ตาจึงจัดเป็นรูป จิตจึงจัดเป็นนาม
    ในการพิจารณารูปนามในทางวิปัสสนาทำให้เกิดญาณทัศนะขึ้นไป เป็นวิปัสสนาทำให้เกิดญาณทัศนะ ขึ้นไปเป็นลำดับ เมื่อเราใช้อายตนะมาเป็นอารมณ์ หรือเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกระทำวิปัสสนา จึงเรียกว่า “อายตนะวิปัสสนากัมมัฏฐาน”

    อายตนะ ๑๒ ซึ่งอยู่ในหมวดธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งเป็นฐานหนึ่งที่ใช้มาเจริญวิปัสสนา
    อายตนะแบ่งเป็น อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์
    และอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
    เมื่ออายตนะภายนอกเกิดขึ้น (ซึ่งเป็นปัจจัย) มากระทบอายตนะภายใน (ซึ่งเป็นเหตุ) มันจะเกิดผัสสะขึ้นเป็นจังหวะแพลบๆ เกิดดับ เกิดดับ อาการเกิดดับตามปกติก็เท่ากับหนึ่งวินาทีของโลก

วิญญาณ คือ ตัวรู้ ตัวรู้ทั้ง ๖ คือ
    ๑. จักขุวิญญาณ คือ ความรู้สึกอาศัยตา
    ๒. โสตวิญญาณ คือ ความรู้สึกอาศัยหู
    ๓. ฆานวิญญาณ คือ ความรู้สึกอาศัยจมูก
    ๔. ชิวหาวิญญาณ คือ ความรู้สึกอาศัยลิ้น
    ๕. กายวิญญาณ คือ ความรู้สึกอาศัยกาย
    ๖. มโนวิญญาณ คือ ความรู้สึกอาศัยใจ

ผัสสะ คือ ความกระทบ กิริยาที่กระทบ ความประจวบกันแห่งอายตนะภายในอายตนะภายนอกและวิญญาณ ผัสสะทั้ง ๖ คือ
    ๑. จักขุสัมผัส คือ ความกระทบทางตา
    ๒. โสตสัมผัส คือ ความกระทบทางหู
    ๓. ฆานสัมผัส คือ ความกระทบทาจมูก
    ๔. ชิวหาสัมผัส คือ ความกระทบทางจมูก
    ๕. กายสัมผัส คือ ความกระทบทางกาย
    ๖. มโนสัมผัส คือ ความกระทบทางใจ

เมื่ออายตนะภายนอกมากระทบอายตนะภายใน เสร็จแล้วกระทบตัวรู้ คือ ตัววิญญาณ ขบวนการที่กระทบกันนี้ เรียกโดยรวมว่าผัสสะ ในร่างกายเรายังมีแงสืบต่อที่ซับซ้อน ซ้อนทับกันอยู่ โดยเป็นแรงสืบต่อที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงสภาพรู้ ระหว่างธาตุรู้ของอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง กับธาตุรู้ที่ใจ โดยใจนั้นจะเป็นศูนย์กลางของธาตุรู้ เพราะธาตุรู้รวมตัวกันอยู่ที่ใจมากที่สุด เมื่อเกิดผัสสะขึ้นที่อายตนะที่ใดก็ตาม แรงสะเทือนจากากรกระทบผัสสะ จะกระตุ้นธาตุรู้ที่อายตนะตรงจุดนั้นให้เกิดสภาพรู้ สภาพรู้นั้นก็จะส่งแรงสืบต่อเคลื่อนเข้ามาที่ใจ กระทบธาตุรู้ที่ใจ หรือที่เรียกว่ามโนวิญญาณ ทำให้เกิดสภาพรู้ขึ้นอีกทีหนึ่ง เช่น

เมื่อหูได้ยินเสียง ธาตุรู้ที่หูถูกกระทบด้วยเสียง ธาตุรู้ที่หูก็ทำงาน เกิดสภาพรู้ที่หูขึ้นว่าเป็นเสียง แรงสืบต่อจะส่งสภาพรู้ดังกล่าวไปเกิดสภาพรู้ที่ใจอีกที ถึงจะเกิดการได้ยินขึ้นอย่างสมบูรณ์ว่าเป็นเสียงอะไร ชอบหรือไม่ชอบ เมื่อกระทบที่ใจแล้วสภาพรู้ก็จะหวนกลับมาที่หู และวนไปสู่ทีใจอีก วิ่งวนเช่นนี้เรื่อยไป การวิ่งวนเช่นนี้เป็นแรงสืบต่อของอายตนะ และเป็นแรงที่คอยดึงจิตให้เข้ามายึดเกาะกับขันธ์ ๕ เช่นเดียวกัน จึงต้องมีสติกำหนดรู้เท่าทันสันตติแรงสืบต่อของรูปนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้จิตไปยึดเกาะกับขันธ์ห้า พิจารณากำหนดรู้ความไม่เที่ยงของรูปนาม คือ เกิดดับ เกิดดับ เป็นเนืองนิตย์เกิดความชำนาฯกลายเป็นความปกติ ความไม่เที่ยงของรูปนามก็จะแสดงตัวให้เห็นอย่างเด่นชัดตลอดทั้งลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ประสาทหูเป็นแค่ตัวดึงเสียง มิใช่ตัวได้ยิน ตัวได้ยินคือตัววิญญาณหูหรือที่เรียกว่าโสตวิญญาณ ส่วนตัวรู้และรับอารมณ์จากการได้ยินเสียงนั้น คือ ตัวรู้ที่ใจ หรือที่เรียกว่ามโนวิญญาณ เวทนาจึงเกิดขึ้นที่ใจ สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ปรุงขึ้นที่ใจ และอาศัยใจเป็นที่อยู่ เช่น เวลาเรานอนหลับสนิทหรือสลบไป ทำไมจึงไม่ได้ยินเสียง ทั้งๆ ที่ประสาทหูก็ยังอยู่เหมือนเดิม มิได้ถูกทำลาย แต่ถ้าเรานอนหลับแต่ไม่สนิท เวลามีเสียงดัง ก็สักแต่ว่าได้ยิน เพราะวิญญาณหูคือโสตวิญญาณยังทำงานอยู่ แต่มโนวิญญาณหรือวิญญาณที่ใจไม่ไทงาน ก็ไม่ได้สนใจเนื้อหาสาระของเสียง แต่ถ้าเราตื่นอยู่ มโนวิญญาณหรือวิญญาณที่ใจเจ้าไปรับรู้กับเสียงที่เกิดขึ้น ก็รู้เป็นเรื่องเป็นราวว่าเสียงอะไร มาจากทิศไหน ชอบหรือไม่ขอบ อารมณ์เวทนาก็เกิดขึ้น

ตัวรู้ซึ่งเกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย อายตนะทั้ง ๕ เมื่อถูกกระทบโดย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วผัสสะเกิดขึ้นกับวิญญาณหรือตัวรู้ทั้ง ๕ เป็นตัวรู้ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่ง บริสุทธิ์ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น รู้รสก็สักแต่ว่ารู้รส สัมผัสก็สักแต่ว่าสัมผัส ไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่ว ไม่รู้สุข ไม่รู้ทุกข์ เช่น เมื่อมีรถสีเขียวคันหนึ่งวิ่งมา สิ่งนั้นคือ รูป มากระทบตา เกิดผัสสะขึ้นที่จักขุวิญญาณ หรือตัวรู้ที่ตา ก็สักแต่ว่าสิ่งหนึ่งกำลังวิ่งสมา คำว่ารถไม่รู้จัก สีเขียวก็ไม่รู้จัก พอสันตติสืบต่อตัวรู้ที่ตานี้ไปสู่ตัวรู้ที่ใจหรือมโนวิญญาณ ซึ่งมีสัญญาเดิมซึ่งบันทึกไว้โดยขันธ์ ๕ อยู่ก่อนแล้วเหมือนเราบันทึกโปรแกรมใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ ตัวรู้ที่ใจมันก็บอกทันทีว่าสิ่งนี้เรียกว่ารถ สีนี้คือสีเขียว รวมกันเรียกรถสีเขียว แต่ถ้าเป็นชาวอังกฤษ ตัวรู้ที่ใจของก็จะบอกว่าสิ่งนี้เรียกว่า “กรีนคาร์” แปลเป็นไทยก็คือรถสีเชียวเหมือนกันกัน แต่เขาถูกขันธ์ ๕ ของเขาบันทึกโปรแกรมตามภาษาของเขา การเปล่งวาจาออกมาจึงไม่เหมือนกัน ถ้าคนๆ นั้นบันทึกสัญญาไว้ว่าไม่ชอบสีเขียว ถ้าคุณพ่อซื้อรถสีเขียวให้ก็จะมีอาการเวทนาเกิดขึ้น คือมีอารมณ์ไม่ชอบเกิดขึ้น ถ้าความไม่ชอบมีมาก ก็สามารถปรุงไปสู่ขั้นมีทุกข์ได้

การปฏิบัติอายตนะวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 เมื่อเราได้ทำความรู้จักขบวนการทำหน้าที่ของอายตนะภายในทั้ง ๖ ดีแล้ว รวมทั้งการทำหน้าที่ของสันตติแรงแห่งความสืบต่อของกาลเวลาซึ่งมีความเร็วมาก ทั้งหมดคือภาคทฤษฎีที่ควรจะรู้ ต่อไปนี้ก็จะพูดถึงความรู้ที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อให้เกิดมรรคผลอย่างแท้จริง

เมื่อเราทำจิตใจให้เกิดความสะอาด สว่าง สงบ เป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์ของใจแล้ว จะเห็นว่าจิตเป็นสุขมาก ยิ่งลึกเข้าไปเท่าไหร่ยิ่งเกิดความสุข แต่ปัญญาไม่ได้เกิด เพราะไปติดสุขข้างในใจ การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่หวังผลที่จะให้สุขส่วนเดียว หามิได้ ทุกข์จะไม่พ้น เพราะสุขกับทุกข์อาศัยต่อเนื่องกันอยู่ เราควรหาอุบายให้จิตหลุดพ้นจากความสุขและความทุกข์ โดยวิธีวิปัสสนา

เริ่มจากดึงความสงบที่เคยได้จากการฝึกสมถะกัมมัฏฐานสงบที่ใจมาสู่ความรู้สึกจากภายนอกคือที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง เมื่อมาสู่ความรู้สึกภายนอกตามตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่จิตชอบมาก เช่น ที่หู ก็เอาจิตเลื่อนจากใจมาตั้งไว้ที่หู ความรู้สึกก็คือจิต จะเห็นว่าหูถูกกระทบจากเสียง ถูกจุดนี้เป็นจังหวะแพลบๆ เกิดดับ เกิดดับ ถ้าเราใส่เจตนาลงไปจุดนั้น จะเกิดดับ เกิดดับ เร็วขึ้น ถ้าใส่เจตนาเบาๆ จะเกิดดับ เกิดดับช้าๆ ถ้าเราไม่ใส่เจตนา อาการเกิดดับก็เท่ากับเวลาของโลกหนึ่งวินาที

ในทำนองเดียวกันถ้าเราเอาจิตไปตั้งไว้บนฐานของจมูก ลมหายใจคือ อายตนะภายนอก จมูกคือ อายตนะภายใน เมื่อกระทบกันก็จะเกิดแรงดึง แพลบๆ เกิดดับ เกิดดับ ที่ฐานอารมณ์ที่โพรงจมูก เมื่อเราดึงจิตมาสู่ความรู้สึกภายนอกแล้ว อย่าพยายามเข้าไปสู่ข้างในอีก เพราะนิสัยเคยชินที่จิตติดสุข อารมณ์ของใจจะดึงเอาไว้ไม่ให้ออกมา จะทำให้เราไม่มีปัญญาเห็นอาการเกิดดับ หรือความไม่เที่ยงของรูป นาม เมื่อเราเอาความรู้สึกมาอยู่ภายนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง ความสุขที่เคยได้จากใจจะไม่ได้แล้ว มีแต่ความรู้สึกเป็นปัจจุบันขณะ เห็นอาการเกิดดับของรูป นาม ไปตามจุดต่างๆ เช่นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง ถ้าเราอยากจะเข้าไปสู่ในใจ ก็อย่ากดจิตเข้าไปให้สนิทแนบแน่นเหมือนแต่ก่อน ให้ไปกระทบใจเบาๆ เห็นว่าใจถูกกระทุ้ง เกิดดับ เกิดดับ จากอารมณ์ที่มากระทบ เป็นปัจจุบันขณะอย่าบังคับจิตอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆ ทำเป็นปกติ อิสระ เห็นอาการ เกิดดับ เกิดดับ อยู่เนืองนิจตลอดสาย เหมือนชีพจรเต้น ถ้าคนไหนไม่รู้จะเจริญสติให้เป็นปกติ ให้จับชีพจรของตนเอง แล้วทำจิตให้กระทบประสาทสัมผัส ให้เท่ากับจังหวะการเต้นของชีพจร แสดงว่าเป็นปกติแล้ว เมื่อเราทำดั่งนี้นานๆ ก็จะเป็นการเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ มีโอกาส ที่จะทำให้จิตหลุดพ้นมีดวงตาเห็นธรรมได้เหมือนกัน แต่ต้องใช้เวลาปฏิบัติมากหน่อย เราควรเร่งสติให้เร็วขึ้น เพื่อทำให้จิตได้หลุดพ้นเร็วขึ้นเพราะเวลาไม่คอยใคร

เราได้ทำความเข้าใจมาแล้ว ระหว่างความรู้สึกภายนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สมอง สัมพันธ์กับความรู้สึกภายในคือ ใจ เมื่อเราดูอาการเกิดดับ เกิดดับ จากความรู้สึกภายนอก มันจะพยายามเข้าไปสัมพันธ์กับความรู้สึกภายในเสมอ เช่น หูกระทบด้วยเสียงมันจะกระเทือนเข้าไปถึงหัวใจ แล้วรู้ผ่านใจวนกลับมาที่เสียงใหม่อีก วนเป็นรอบๆ ในทำนองเดียวกันทาง ตา จมูก ลิ้น กาย สมอง ก็จะถูกกระทบจากรูป กลิ่น รส กายสัมผัส ความคิด ก็จะวนเข้าสู่ใจเสมอ วนไปวนมาไม่รู้จักจบสิ้น ในทำนองเดียวกัน อารมณ์กระทบใจก็จะวนกลับมาสู่ความรู้สึกภายนอก แล้ววนเข้าไปใหม่อีกเป็นรอบๆ ลักษณะกรรวนอย่างนี้ ถ้าเราจับได้เป็นประโยชน์ในการเร่งสติมาก

แรกๆ ต้องช่วยมันก่อน คล้ายๆ รถยนต์เครื่องไม่ติด ก็ต้องช่วยมันเข็นก่อน เมื่อเครื่องมันติดแล้ว มันก็จะวิ่งวนไปเอง คือใส่เจตนาของจิตเข้าไปร่วมกับอาการ วิ่งวน เช่น ถ้าเราเลือกเสียงเป็นตัวกำหนด เราก็กำหนดความรู้สึกไปที่หู แล้ววนกลับมารู้อารมณ์ที่ใจ ตอนแรกๆ ก็ใส่เจตนาลงไปร่วมวิ่งวนช้าๆ ก่อน เพื่อฝึกให้จิตมีความชำนาญร่วมกับอาการวิ่งวน ให้จิตร่วมอยู่กับอาการวิ่งวนนั้นสถานเดียว อย่าเอาจิตไปใช้ในหน้าที่อื่น ตอนแรกๆ มันจะวิ่งวนไปช้าๆ ร่างกายภายนอกเราก็โยกตามมันไปเพื่อให้อาการวิ่งวนคล่องตัวขึ้น ถ้าชำนาญแล้วมันก็จะวิ่งวนเร็วขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ เราก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน อย่าไปดึงมันไว้ ให้จิตมีส่วนร่วมทุกจุดในเจตนาที่วิ่งวนไป อย่าให้จิตไปสุดโต่งระหว่างข้างนอกและข้างใน คือวางจิตเป็นกลาง

ถ้าธรรมารมณ์กระทบใจข้างใน เช่น เราโกรธ อารมณ์อัดแน่นในใจ ให้เอาความอัดแน่นนั้นไปวนกับใจ มันจะวนคลายออกมาเหมือนคลายเกลียวน็อต ถ้าธรรมารมณ์ออก เราเคยกักอารมณ์ต่างๆ ในอดีตไว้ เช่น ร้องไห้ หัวเรา ความคับแค้นใจ มันจะระบายให้เราเห็นอีก จะมีอาการร้องไห้ หัวเราะ รำพึงรำพัน หรืออาเจียนและแสดงกิริยาอาการต่างๆ ออกมาตามอารมณ์ปัจจุบันกาล ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะธรรมารมณ์ที่คั่งค้างอยู่ในอดีตกำลังไหลออกมา ถ้าหมดแล้วอาจมีการสลัดอารมณ์ จนถึงขั้นล้มหงายหลังได้ บางทีถึงกับทำให้จิตหลุดพ้น มีดวงตาเห็นธรรมได้ ถ้าทำไปนานๆ ความเร็วของการวิ่งวนจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถรับแรงเหวี่ยงได้ ให้ปล่อยความรู้สึกในการวนนั้นเสีย จิตก็จะพุ่งพรวดออกไปจากแรงเหวี่ยงของการวิ่งวน ถ้าแรงเหวี่ยงมากจิตจะหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่ง มีดวงตาเห็นธรรมทันที ถ้าแรงเหวี่ยงมีไม่มาก จิตจะลอยไปอยู่ข้างบน นิ่งอยู่ ถ้าจิตอยู่ที่นั่นนานๆ จะมีแรงสันตติมากระทบที่จิตนิ่งนั้นๆ ติ๊ก ๆๆ เมื่อเราปล่อยให้มันชนกันไปนานๆ จนหมดแรง จะเห็นว่าจิตลอยเคว้งคว้างไม่มีที่ยึดเกาะ แล้วปล่อยความรู้สึกนั้นเสีย ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่อาลัยอาวรณ์เรื่องอะไรต่างๆ ที่จิตยึดเกาะ ให้ปล่อยวางให้หมด แม้กระทั่งความตายที่จะเกิดขึ้นให้ปล่อยไป เมื่อปล่อยได้แล้วก็จะถึงสภาวะจิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่ง มีดวงตาเห็นธรรม ซึ่งผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้เฉพาะตน

www.plarnkhoi.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น