ทำไมเราจึงต้องสวดมนต์

Photo from timelightbox.tumblr.com

มนุษย์เราทุกคนแสวงหาวิธีการที่จะทำให้จิตใจมีสภาพมั่นคงด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ในฐานะที่คนไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักสำหรับยึดเหนี่ยว ยังมีการเสริมสร้างพลังใจโดยอาศัยการสวดสาธยายพระปริตร หรือบทสวดมนต์ต่างๆ อันจะทำให้มีความมั่นคงในจิตใจ มีกำลังพลังใจในการต่อสู้กับปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

การสวดมนต์แต่ละครั้งจึงถือว่าผู้สวดได้รับคุณประโยชน์นานัปการ ทั้งแก่ตัวเอง และแก่ส่วนรวมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ด้วยวิธีการไหนหรือบทใดก็ตาม หากสวดมนต์ด้วยความตั้งใจจริง หมั่นพิจารณาเนื้อความจนเข้าใจ และรู้ซึ้งถึงความหมายของบทสวดมนต์นั้นๆ แล้ว ย่อมได้รับผลานิสงส์มากมายดังนี้
  1. เป็นการสร้างศรัทธา (สทฺธาพลํ) คือความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัย กล่าวคือ พระพุทธเจ้าตรัสรู้และเปิดเผยสัจธรรมแก่มวลมนุษย์ พระธรรมทำให้เข้าใจในสรรพสิ่งได้อย่างแท้จริง และพระสงฆ์เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำคำสอนนั้นมาเผยแผ่แก่ประชาชน ดังนั้นการสวดมนต์จึงเป็นการเสริมสร้างพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา และน้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่ามากที่สุด
  2. เป็นการสร้างปัญญา(ปญฺญาพลํ) คือการสร้างสรรค์พังทางปัญญา เพราะการที่เราท่องบ่นจดจำหลักธรรมที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ แล้วนำไปพิจารณาให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยการพินิจพิจารณาความหมายของแต่ละสูตรนั้นในกระบวนการดังกล่าวเป็นการพัฒนาทางด้านความคิด และสติปัญญาให้เกิดขึ้น และย่อมสามารถขจัดปัญหาอุปสรรคได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
  3. เป็นการไล่ความขี้เกียจ และตัดการเห็นแก่ตัว เพราะขณะที่กำลังสวดมนต์นั้น ความเบื่อหน่าย ง่วงนอน และเกียจคร้านจะหายไป กลับมีจิตใจแช่มชื่นฮึกเหืมอย่างน่าประหลาด นอกจากนี้เป็นการตัดความเห็นแก่ตัวออกไปอีกด้วย เพราะในขณะที่เราสวดมนต์ อารมณืจะจดจ่ออยู่ที่บทสวดมนต์ ไม่ทำให้คิดไปในเรื่องอื่นที่เป็นเหตุให้เกิดความฟุ้งซ่าน และเป็นการกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงออกไปจากใจ
  4. จิดสงบเป็นสมาธิ ในขณะที่สวดมนต์ ผู้สวดมาต์ต้องสำรวมใจให้แน่วแน่ ไม่หวั่นไหวคลอนแคลน มีใจจดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์ระมัดระวังอย่าให้สวดมนต์ผิดอักขระ ขณะที่สวดมนต์อยู่จิตย่อมเป็นสมาธิ และเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมเกิดความสงบเยือกเย็นทำให้มีพลังในการคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
  5. ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ในขณะที่เรากำลังสวดมนต์อยู่นั้น เราย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศมาธิ ปัญญา กล่าวคือ มีกายวาจาเป็นปกติ(ศีล) มีใจที่แน่วแน่นิ่งสงบ (สมาธิ) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชาคือการสวดมนต์
พระอัครเดช ญาณเตโช วัดฉาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น