สติกับสมาธิ

ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ๋ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการกำหนดสติกับการทำสมาธิได้ ทำให้ไม่มีโอกาสบรรลุเข้าสู่มรรคผลนิพพาน เพราะการนั่งสมาธิแม้จะได้ถึงฌานระดับสูงสุดก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นอรูปพรหม แต่ไม่สามารถหลุดพ้นจากสังสารวัฎได้

สมาธิคือความแน่วแน่ มุ่งมั่น แต่สติคือความละเอียด ความว่องไว เปรียบกับการขับรถ สมาธิคือการตั้งจิตบังคับรถให้วิ่งไปตามถนนและมุ่งมั่นถึงจุดหมายปลายทางที่จะไป ส่วนสติคือการรู้ตัวในทุกชั่วขณะของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นการไหวตัวของรถ สัญญาณเตือนต่างๆ บนหน้าปัด รู้ว่ามีรถสวนมา มีรถแซง มีหลุมบ่อข้างหน้า การขับรถด้วยสมาธิอย่างเดียว แต่ขาดสติ เป็นเรื่องอันตราย

สติคือการควบคุมเฝ้าดูความรู้สึก แต่สมาธิเป็นการดื่มด่ำแนบแน่นไปกับความรู้สึกนั้น ขณะมีสมาธิกิเลสจะเข้าง่าย แต่ขณะมีสติกิเลสจะเข้าไม่ได้

สมาธิทำให้เกิดกำลัง แต่สติทำให้เกิดความไว หรือจะเรียกง่ายๆ ว่าสติคือสมาธิชั่วขณะที่ไวมากๆ นั่นเอง มนุษย์รู้จักสมาธิมานานแล้ว มีกุศโลบายมากมายของมนุษย์ที่ช่วยทำให้เกิดสมาธิ เช่นพิธีกรรม ความศรัทธา การดูฤกษ์ยาม ความเชื่อต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อดึงพลังอันลึกลับจากภายนอก แต่เป็นการดึงพลังจากสมาธิภายใน ผู้ที่ศรัทธาอย่างแรงกล้าจะมีจิตที่มุ่งมั่นเห็นคุณค่าในสิ่งนั้น พอใจในสิ่งนั้นสามารถอุทิศตัวทั้งกายและใจเพื่อสิ่งนั้น เช่นเดียวกับการยิงธนู ผู้ยิงจะต้องมีสมาธิจับไปที่เป้า แต่สติคือปัญญาที่จะทำอย่างไรเพื่อจะยิงไปให้ถูกเป้า ถ้ามีสติ แต่ขาดสมาธิเป้าหมายจะไม่ชัด โอกาสยิงถูกก็น้อยลง ในทางตรงข้าม ถ้ามีสมาธิ แต่ขาดสติก็ยิงไม่ถูก

เมื่อใดที่รู้สึกตัวเริ่มมีสมาธิ ให้กำหนดสติเฝ้าดูและรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ว่ากำลังมีสมาธิ
การกำหนดสติ คือการเฝ้าดูความรู้สึกที่ผุดขึ้นในใจทุกครั้งที่ละลึกได้ เช่น โกรธหนอๆ เกลียดหนอๆ
แม้ไม่มีความรู้สึกใดๆ ก็ให้กำหนดไปที่การเคลื่อนไหวทางกาน เช่น อิริยาบถต่างๆ การยุบ-พองของท้อง การตั้งสติดูลมหายใจเข้า-ออก

สติสำคัญกว่าสมาธิ แต่สติก็ต้องอาศัยสมาธิเป็นฐานในการสร้าง

เรื่อง ทันตแพทย์สม สุจีรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น