พระป่า

พระธุดงค์ หรือ พระป่า หมายถึง พระภิกษุ ฝ่ายที่มุ่งศึกษาธรรม โดยการกระทำ หรือลงมือปฏิบัติ และพำนักอยู่ตามป่าเขา ที่สงบ สงัด สะดวกต่อการปฏิบัติ จึงเรียกว่า "พระฝ่ายอรัญวาสี พระธุดงคกรรมฐาน" หรือพระป่า พระที่อยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกตั้งแต่สมัยพุทธกาล

กิจวัตรของพระป่า
การถือธุดงค์ของพระป่า มีข้อปฏิบัติ "ธุดงควัตร" 13 ประกอบด้วย
1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร
3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร
4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร
5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร
6. ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร
7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร
8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
10. ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร
11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร
13. ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือการไม่นอนเป็นวัตร

อานิสงส์ การปฏิบัติธุดงควัตร ทำให้พระป่าที่จาริกไปตามป่าเขา พำนักตามโคนไม้ เพิงผาและตามถ้ำเป็นอยู่อย่างสมถะ เสียสละ ลดละอุปโภคบริโภค ทำให้จิตของท่านเป็นอิสระพ้นจากพันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย สงบ เอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญความเพียร

การเริ่มต้นชีวิตแบบพระป่า อาจทำได้ 2 วิธี คือ
1.การบวชเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดใดวัดหนึ่ง ให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นจึงไปขอพำนักในวัดป่า ถ้าประธานสงฆ์ อาจารย์ใหญ่ หรือสมภาร อนุญาต ก็จะได้เข้าพำนัก โดยจะต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ของวัดป่านั้นๆ แต่โดยมาก มักไปขออนุญาตก่อนล่วงหน้า ว่าเมื่อบวชแล้วจะมาขอพำนักด้วย
2.เข้าไปปวารณาตัวเป็นอุบาสก ถือศีลแปด และอาศัยอยู่ในวัด คือเป็น "ผ้าขาว" หรือ "ปะขาว" ก่อน เพื่อทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์พระ และฝึกการปฏิบัติไปด้วย โดยต้องทำหน้าที่ให้เรียบร้อย เป็นที่พอใจของสมภาร หรืออาจารย์ที่เป็นผู้ปกครอง จึงจะได้รับอนุญาตให้บวช วิธีนี้เป็นการฝึกหัดความอดทนในการใช้ชีวิตแบบพระป่า ก่อนที่จะบวชเป็นพระป่า

กิจวัตรของพระป่าคือ ตื่นนอนตั้งแต่ตีสามหรือตีสี่ เพื่อปฏิบัติภาวนา สวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำกิจส่วนตัว แล้วเตรียมตัวออกบิณฑบาต จะออกบิณฑบาตเป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น