ปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะได้ผล

สถานที่ปฏิบัติธรรม

เรื่อง พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยเข้าอบรมปฏิบัติธรรมมาก่อน บางคนปฏิบัติมาหลายครั้ง หลายปีแต่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความก้าวหน้า ถึงกับเกิดความท้อถอย เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีวิธีปฏิบัตืกรรมฐานอย่างไรให้มีความก้าวหน้าและสามารถนำเอาธรรมมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติกรรมฐานนั้นมีวิธีปฏิบัติอยู่ 2 แบบคือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

สมถกรรมฐาน หมายถึง การทำสมาธิเพื่อให้จิตตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อเนื่องกันไปนานเท่าที่จะนานได้ เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่กับสิ่งนั้นได้นานขึ้นๆ จิตจะมีความสงบ มีปิติ เบาใจ อิ่มเอิบใจ มีความสุข และหากมีกำลังมากขึ้นไปอีก จิตจะตั้งมั่นไม่หวั่นไหว(เอกัคคตา) วางเฉย(อุเบกขา) ต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระทบหรือที่เกิดขึ้นกับกาย เช่น แม้จะมีเสียงดัง ยุงกัด หรือปวด จิตจะไม่ใส่ใจในสิ่งที่เกิดขึ้น วางอุเบกขาอยู่ในความสงบต่อไป

วิปัสสนสกรรมฐาน หมายถึง การฝึกจิตให้เกิดปัญญา เพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายตามกฏธรรมชาติ อันต่างไปจากความเป็นจริงในทางโลกที่มนุษย์สมมุติขึ้นมา ด้วยการนิยามความหมายและให้คุณค่าของสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่เป็นสากลเพราะไม่สามารถใช้กับทุกคนในโลกได้ เช่น ภาษา เงินตรา กฏหมาย ประเพณี

ต่างไปจากความเป็นจริงทางธรรมชาติหรือกฏธรรมชาติ ได้แก่กฏ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งครอบคลุมทุกสรรพสิ่งเอาไว้ เพราะทุกสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (อนิจจัง) มีความขัดแย้งกดดันกันคงทนอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้เป็นของปรุงแต่งขึ้นมา ไม่สมบูรณ์ในตัว (ทุกขัง) เกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ ที่มารวมตัวกันเข้าในห้วงเวลาหนึ่ง ไม่เป็นของใครจริง บังคับไม่ได้ดังปราถนา (อนัตตา)

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานช่วยให้เราเข้าใจถึงความเป็นจริงตามกฏธรรมชาติ เพื่อถอดถอนความยึดมั่นสำคัญผิดอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่การปฏิบัติวิปัสสนาก็ต้องอาศัยการทำสมาธิเข้าช่วย การจะทำสมาธิให้ใจมีความสงบนั้นต้องอาศัย ความเพียรไม่ท้อถอย เพราะธรรมชาติของจิตเป็นอนิจจัง คือเปลี่ยนอารมณ์เร็ว เป็นทุกขัง คงอยู่ในสภาวะเดิมได้ไม่นาน เป็นอนัตตา ยากที่จะบังคับให้ได้ดังใจ

ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรบังคับจิตให้อยู่นิ่งๆ เพียงประคองจิตให้ระลึกรู้หรือมีสติอยู่กับลมหายใจที่เข้า-ออก หากจิตเผลอไปคิดเรื่องอื่นก็ไม่เป็นไร เอากลับมารับรู้ลมหายใจใหม่ เผลออีกก็เอากลับมาอีกไม่ท้อถอย อย่างนี้เรียกว่ามีความเพียร อย่าไปหงุดหงิดขุ่นเคืองที่จิตไม่ยอมอยู่นิ่งๆ ทำอย่างผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่กดดันตัวเอง

จนถึงที่สุด จิตก็จะเป็นอิสระจากกิเลสตัณหา เข้าถึงสันติสุขอันนิรันดร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น